ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วันที่ 3 ซึ่งฝ่ายค้านมีการพุ่งเป้าไปที่งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรที่ดินทำกิน ราคาสินค้าเกษตร รายได้เกษตรกร ปัญหาโรคระบาด
นายเจษฏา ดนตรีเสนาะ สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างงบประมาณ 68 ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรงบไร้จุดหมายว่า ในครึ่งปีหลังไทยจะเจอกับวิกฤตลานีญ่า ที่อาจส่งผลให้มีฝนตกมากกว่าปกติ และเกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ และมองว่า รัฐบาลไม่ได้จัดงบประมาณเพื่อรับมือกับวิกฤตได้เพียงพอ และจัดงบไม่ตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยในปี 68 รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ประมาณ 6 ล้านลบ.ม. ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาวะภัยแล้งที่กำลังเผชิญอยู่ และยังขาดแผนสำรองในการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา
ขณะที่ปี 68 รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อป้องกันน้ำท่วม เกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้ามีพื้นที่น้ำท่วมลดลง 4.9 แสนไร่ แต่ตนมีข้อกังวลในพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมเป็นประจำที่ทันกับฝนตกจากลานีญ่าหรือไม่ เช่น ปัญหาพนังกั้นน้ำทรุด การไม่เตรียมพร้อมการใช้งานทุ่งรับน้ำ และใช้ถนนเป็นแนวคันกันน้ำ ดังนั้นในพื้นที่เสี่ยงภัยที่น้ำท่วมประจำ รัฐบาลจึงต้องมีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ให้ใช้ได้อยู่เสมอตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และต้องเตรียมศูนย์อพยพประชาชนที่ปลอดภัย รวมถึง ควรจะมีการเชื่อมโยงระบบแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ที่กระจัดกระจายให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและปรับตัวได้ทันการณ์
นายเจษฏา ย้ำว่า การจัดสรรงบประมาณด้านน้ำต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ประหยัด มีประสิทธิภาพ เท่าทันเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคต โดยมีข้อเสนอให้มีระบบบริหารข้อมูล และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยท้องถิ่น และรวมโครงการต่างๆไว้ในแผนบูรณาการและมุ่งสู่เป้าหมายของประเทศอย่างจริงจัง
โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 125,882 ล้านบาท สำหรับดูแลเกษตรกร 30 ล้านคนอย่างครบวงจร โดยคิดเป็นเงินสำหรับดูแลเกษตรกรประมาณ 3,386 บาท/ปี/คน และหากมองย้อนกลับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ถือว่า เงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอ เพราะน้อยมาก ด้วยข้อจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ต้องยอมรับความจริงว่า งบประมาณไม่สอดคล้องกับภารกิจงาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านน้ำและที่ดิน ดังนั้นต้องวางแผนให้เหมาะสม เน้นการทำเกษตรยุคใหม่ จำแนกเกษตรกรเป็นกลุ่ม ๆ คือ
- กลุ่มที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลจะส่งเสริมให้สามารถช่วยเหลือตัวเองในการสร้างสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและส่งออกได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ เพียงแต่รัฐบาลจะคอยช่วยอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี หรือการส่งออก
- กลุ่มที่มีความเข้มแข็งปานกลาง ต้องใช้นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ควบคู่กับการสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรและการหาตลาดใหม่ ๆ มารองรับ และนำงานวิจัยต่าง ๆ มาปรับใช้ประโยชน์
- กลุ่มที่มีปัญหาขาดความเข้มแข็ง รัฐบาลต้องดูแลเป็นพิเศษ ช่วยหามาตรการฟื้นฟูให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน และยกระดับให้เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งในอนาคต
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัดนี้ กระทรวง ฯ ยืนยันจะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรต่อไป ด้วยแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม การลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ ลดการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่น้ำน้อย แล้วให้เปลี่ยนไปปลูกถั่วเหลืองแทน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้