นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว.กลุ่มที่ 20 (กลุ่มอื่น ๆ) ยื่นฟ้องคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือก สว.เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย
"เรื่องนี้หลายคนเห็นความผิดปกติ หากปล่อยว่าที่สว. 200 คน เข้าไปทำหน้าที่ ผมเกรงว่า บางคนจะไม่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่สว. เนื่องจากอาจจะถูกครอบงำจากบางกลุ่ม บางก้อน เลยมายื่นเรื่องให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองไต่สวนฉุกเฉินในการที่กกต.จะประกาศรับรองผล ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 3 ก.ค.นี้ ตามที่กกต.ให้สัมภาษณ์ เรื่องนี้ยังมีเวลา ไม่ต้องรีบ เพราะการปล่อยผ่านสว.บางคนเข้าไป มองว่า การไปพิจารณารับรองบุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ การไปพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบกับประชาชนทั้งประเทศนั้น ผมไม่สามารถปล่อยผ่านได้จริง ๆ ดังนั้นอยากให้กกต.มีเวลา และตรวจสอบอย่างชัดเจนอีกครั้ง ยืนยันไม่ได้ต้องการให้การเลือกเป็นโมฆะ" นายจาตุรันต์ กล่าว
ขณะที่ กลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภากลุ่มอื่นๆ กว่า 30 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้การเลือกสว.จำนวน 200 คน ในครั้งนี้เป็นโมฆะ และขอให้ไม่รับรอง นายชินโชติ แสงสังข์ หรือ ชื่อเดิมนายประเทือง แสงสังข์ ผู้ได้รับเลือกเป็นสว.ในกลุ่มที่ 7 และขอให้ดำเนินคดีกับนายชินโชติ ในการนำเอกสาร และใช้เอกสารอันเป็นเท็จมาลงสมัครรับเลือกสว.ในครั้งนี้
รวมทั้งนายสมชาย แสวงการ สว. และนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ที่ออกมาโพสต์เรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะการนับคะแนนใหม่ หลังพบว่าการเลือก สว.ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม เห็นได้จากผลคะแนนการเลือก สว. ที่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนจากผลคะแนน ที่ปรากฎว่ามาจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้จัดการและแทรกแซง
ดังนั้น กกต. ควรจะต้องพิจารณาสั่งให้นับคะแนนใหม่ เพื่อตรวจสอบการลงคะแนนชุดบล็อกโหวต พิสูจน์ขบวนการฮั้วเลือก สว. เพื่อให้การเลือก สว.สุจริตและเที่ยงธรรมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่บัญญัติไว้
นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชียและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวถึงความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ระบบนี้มีข้อขัดข้องอยู่ และเห็นว่าวิธีการแก้ที่ง่ายที่สุดคือ การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศที่มีระยะเวลาห่างกันถึง 10 วัน จะต้องเลือกสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่มีขนาดใหญ่เป็นหนึ่งสถานที่ และให้เลือกภายในวันเดียวจบ จะได้เกิดการวิ่งเต้นได้น้อย ต้องห้ามนำโพย มือถือเข้าไปในสถานที่เลือก หากทำเช่นนี้ได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ และวิธีการที่จะคัดสรรคน 20 กลุ่มอาจจะน้อยไป ซึ่งสภาพความจริงก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว อาจจะมีสัก 30-40 กลุ่ม ให้ปรับแต่งกันไป
"อย่าคิดสั้น ๆ เพียงแค่ว่า ระบบนี้ไม่ดี เปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งแบบหย่อนบัตร ไหน ๆ มีการสร้างระบบมาแล้วก็ค่อย ๆ ปรับแต่งไป อย่าทำแบบระบบการเลือกตั้ง สส. ที่พอมีปัญหาในระบบก็เปลี่ยนเลยแต่กลับไม่ได้ดีอะไรขึ้นมา" นายเจษฎ์ กล่าว
วันนี้เมื่อได้สว.มา 200 คน และสำรองอีก 100 คน ซึ่งไม่รู้ว่า กกต. จะคัดใครออกบ้าง เมื่อได้คนมาทำหน้าที่ เราก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ สอดส่อง ใครทำหน้าที่ไม่ดี ใครทำหน้าที่บิดเบี้ยว หรือเข้าข้างใคร ใครเป็นพวกใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเชื่อมโยงพรรคการเมือง หรือไปเป็นฝ่ายผู้มีอิทธิพล ทำให้เห็นเด่นชัดว่าการทำหน้าที่ไม่ได้อาศัยผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่อาศัยผลประโยชน์ของพวกพ้องของตนเองก็ต้องจัดการ
ส่วนที่มองว่า สว.สายสีน้ำเงินเข้ามาจำนวนมากนั้น นายเจษฎ์ กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่า สายสีน้ำเงิน สายสีแดง สายส้ม แต่ถ้าไม่ได้ฮั้ว ไม่ได้โกง จะสายไหนก็เข้ามาได้ แต่ถ้าฮั้ว หรือโกง ไม่ว่าจะสายไหนก็ถือว่าไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าอยากให้บ้านเมืองดี ก็ช่วยกันทำให้การเมืองดี เพราะการเมืองเลวทุกอย่างเลวหมด
ส่วนที่มองกันว่าที่ สว. บางคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือถูกมองว่าอาจจะกระทบกับคุณภาพของสภาสูงควรให้การเลือกเป็นโมฆะหรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า ถ้าจะเป็นโมฆะ ก็ควรจะโมฆะเพราะว่าคนที่เข้ามา 200-300 คน ส่วนใหญ่แล้วโกง ฮั้ว ส่วนใหญ่เข้ามาโดยไม่ชอบ ลักษณะอย่างนี้ควรให้กระบวนการเป็นโมฆะไปเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณสมบัติเรื่องของความรู้ อาจจะไม่ได้ ประสบการณ์อาจจะยังไม่เหมาะ แต่ถ้าไม่ได้โกง ไม่ได้ฮั้วกันมา อย่าไปตัดรอนด้วยเหตุเพียงเท่านั้น รอการทำงานก่อน
"อย่าไปคิดว่า ป.4 ทำอะไรได้น้อยกว่าปริญญาเอก ปริญญาเอกทำอะไรไม่ได้เรื่องได้ราวเยอะแยะ ป.4 ทำอะไรดีงามมากมาย คนที่ไม่เคยเล่าเรียน แต่ทำงานแล้วสามารถเข้าใจ เรียนรู้งานได้รวดเร็วก็มีมาก แต่สิ่งที่อาจจะจำเป็น คือวงงานสภา จะทำอย่างไรก็ต้องให้ความรู้แก่คนเหล่านี้ การประสานการทำงานแต่ละฝ่าย เช่นนิติบัญญัติตุลาการ และบริหาร จะทำอย่างไร แล้วท้ายที่สุดคือความรู้ที่จะต้องมีประจำของคนที่ทำงานการเมือง พอไม่ได้อยู่ในแวดวงอาจจะมีขาดตกบกพร่อง ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อเสริมให้สว.เหล่านั้นทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม" นายเจษฎ์ กล่าว