องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหรัฐอเมริกา และ อินเดีย พร้อมใจกันกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีชาวพม่ากว่า 1.5 ล้านคนรอรับความช่วยเหลือหลังจากพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มเมื่อ 10 วันก่อน
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ กล่าวผ่านสถานีวิทยุ CBS ว่า "รัฐบาลทหารพม่าจะต้องเห็นแก่ชีวิตของประชาชนเป็นอันดับแรก การที่รัฐบาลพม่าดำเนินการล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นเหตุให้นานาประเทศแสดงความโกรธและประณามพม่า"
ยูเอ็นประมาณการณ์ว่า พายุไซโคลนนาร์กิสอาจคร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้ายเป็นจำนวนมากถึง 100,000 คน ส่วนยอดเสียชีวิตในขณะนี้อยู่ที่ 33,416 คน และสูญหาย 29,770 คน ทั้งนี้ ยูเอ็นคาดว่ามีชาวพม่าเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่น้ำยังคงท่วมหนักในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี
เมื่อวานนี้ เครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐได้ลำเลียงอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็นมูลค่า 16.25 ล้านดอลลาร์ เข้าไปช่วยเหลือชาวพม่าที่ประสบภัย โดยพลอากาศเอกทิโมธี คีทติ้ง ผู้บัญชาการทหารฝ่ายกิจการแปซิฟิกของสหรัฐ มีโอกาสเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศพม่า ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวนับเป็นเที่ยวบินให้ความช่วยเหลือเที่ยวแรกของสหรัฐ เนื่องจากพม่าปฏิเสธไม่ยอมให้เรือหรือเครื่องบินของสหรัฐเข้าไปในเขตแดนของพม่า
นอกจากนี้ อินเดียซึ่งพรมแดนติดกับพม่า เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายอมรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมากขึ้น โดยนายปรานับ มัคเฮอร์จี รมว.ต่างประเทศอินเดียได้ทำหน้าที่เรียกร้องผ่านทางการพูดคุยทางโทรศัพท์กับรมว.ต่างประเทศของพม่า สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--