สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,188 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบผลที่น่าสนใจ ดังนี้
- ประชาชนรับรู้รายละเอียดการเลือกตั้งน้อย ผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.16 รู้และทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 36.95 รู้แต่ไม่ทราบรายละเอียดอย่างละเอียด และอีกร้อยละ 21.89 ไม่รู้เลยว่ามีการเลือกตั้ง นั่นแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง
- ความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นต่อการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.76 มองว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 39.14 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตนเองและครอบครัวได้รับประโยชน์น้อยจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ในขณะที่ร้อยละ 36.78 เห็นว่าตนเองได้รับประโยชน์มาก สองกลุ่มนี้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันแต่อาจมีการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันรวมถึงความพึงพอใจต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาของ อบจ. ด้วย
- ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาท้องถิ่น พรรคก้าวไกลยังคงเป็นพรรคที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากที่สุดในการแก้ปัญหาท้องถิ่น ร้อยละ 32.53 นำหน้าพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนร้อยละ 19.79 โดยผลการเลือกตั้งนายก อบจ. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปร้อยละ 77.44 หากนำผลมาวิเคราะห์ร่วมกันก็อาจทำให้เห็นกระแสของพรรคก้าวไกลที่เพิ่มสูงขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เช่นกัน
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่าจากผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงความรับรู้และมุมมองของประชาชนต่อการเลือกตั้งนายก อบจ. ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยประชาชนเห็นว่าอิทธิพลของ "บ้านใหญ่" นั้นส่งผลต่อการเลือกตั้งซึ่งอาจเป็นอิทธิพลผ่านการสนับสนุนผู้สมัคร และยังกังวลเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง ดังนั้นการสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจที่ชัดเจนในการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้