นายกฯ แจงงบฯ เพิ่มเติม 1.22 แสนล้านวาระแรกใช้ดิจิทัลวอลเล็ตหนุนศก.โตตามศักยภาพ

ข่าวการเมือง Wednesday July 17, 2024 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน1.22 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาล จะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ ให้ประเทศโตได้เต็มศักยภาพ

พร้อมยืนยันว่า ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน มีเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 จำนวนกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ดังนั้น ฐานะการเงินของประเทศ จึงจัดว่า อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แบ่งเป็น

1. ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท

2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วไปในปี 67 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วง 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.1-1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ