นักวิชาการห่วงสงครามการค้ารอบใหม่-เสถียรภาพการเมืองในประเทศ

ข่าวการเมือง Sunday July 28, 2024 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกรณีบางอุตสาหกรรม บางธุรกิจส่งออก ทยอยปิดโรงงานและเลิกจ้างในระยะนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นและจะยังเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต หากอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจส่งออกเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับพลวัตของเทคโนโลยีและตลาดโลก

สภาวะดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนและกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมากในจีนได้ถูกระบายและทุ่มราคาขายถูก ๆ ในตลาดโลก การเพิ่มมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐและอียูต่อสินค้าทุ่มตลาดจากจีนยิ่งทำให้มีการระบายสินค้าเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากจีนได้กระทบหนัก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมส่งออกโดยรวมจะยังอยู่ในภาวะเติบโตต่ำไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีจนกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าเพิ่มเข้าสู่ค่าเฉลี่ยปรกติ

รัฐต้องทำงานเชิงรุกปรับโครงสร้างราคาบริการพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนช่วย รัฐต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้งหลายที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือการขนส่งคมนาคมโลจิสติกส์แพงกว่าที่ควรจะเป็น การใช้วิธีอุดหนุนราคาด้วยเงินงบประมาณจากภาครัฐไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นเพียงบรรเทาปัญหาและยังสร้างภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มเติมอีก

การปรับตัวต่อพลวัตเทคโนโลยี การปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องสร้างฐานของอุตสาหกรรมและแหล่งรายได้ใหม่ ๆ การปรับตัวต่อพลวัตต่าง ๆ เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของเอกชนเพื่อความอยู่รอดของกิจการและรักษาการจ้างงานเอาไว้ แต่รัฐบาลต้องมีบทบาทเชิงรุกมากกว่านี้ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ การแปรรูปเพิ่มมูลค่าสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยใช้มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐควบคู่มาตรการทางภาษี ลงทุนวิจัยและทุนมนุษย์ยกระดับแข่งขันระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลกอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปภายใน อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้มีอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างมากในอนาคต

อุตสาหกรรมยานยนต์แบบสัปดาปภายในและทักษะแรงงานของไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอัตราเร่งจากปัญหาความรุนแรงของภาวะโลกร้อน หลายประเทศพัฒนาแล้วได้กำหนดเส้นตายไม่ให้รถยนต์สันดาปภายในวิ่งบนถนนอีกต่อไป ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในตลาดโลกย่อมส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงอย่างมากจาก 30,000 ชิ้นเหลือเพียง 1,500-2,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ถังน้ำมัน ท่อไอเสีย อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ในการสันดาปต่างๆ เป็นต้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีมากกว่า 800 แห่ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการจ้างงานมากกว่า 600,000 คน แรงงานเหล่านี้ยังคงมีทักษะการผลิตตามเทคโนโลยีเดิมอยู่และยังมีแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมสนับสนุนจำนวนมาก นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและสถานบริการน้ำมัน เพราะความต้องการในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิสจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

แม้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการของบรรษัทข้ามชาติและนักลงทุนต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญเพื่อส่งออก การย้ายฐานการผลิต การปิดโรงงาน หรือการเลิกจ้าง เป็นการตัดสินใจบนหลักการทางธุรกิจ แต่การตัดสินเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรมและกิจการต่อเนื่อง เราจึงต้องบริหารจัดการให้บรรษัทข้ามชาติและนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ไม่ทิ้งฐานการผลิตในประเทศไทยและพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่ตอบสนองต่อพลวัตตลาดโลก

ในระยะยาวแล้วประเทศไทยต้องสร้างฐานการผลิตและเทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น กรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีแรงงานผลิตชิ้นส่วนใช้สำหรับรถยนต์สันดาปภายในได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีผลกระทบด้านบวกต่อตลาดแรงงานด้วย กล่าวคือ จะมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น การผลิตชิ้นส่วนประเภทใหม่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ผลสุทธิต่อตลาดแรงงานในงานวิจัยหลายชิ้นจึงไม่ชัดเจนว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงของตำแหน่งงานโดยภาพรวม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นแนวโน้มชัดเจน คือ อุตสาหกรรมใหม่ ๆ มีแนวโน้มใช้แรงงานเข้มข้นน้อยลงและมีทักษะสูงขึ้น ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไม่สามารถปรับเปลี่ยนทักษะได้ในทันที ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาทักษะฝีมือ

อีกทั้งแรงงานบางส่วนประสบปัญหาไม่สามารถปรับตัวได้โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุมาก ช่วงการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมยานยนต์ย่อมมีผลกระทบทางลบต่อตลาดการจ้างงาน หากเราสาม รถบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตสูงขึ้นย่อมมีการเปิดกิจการหรือโรงงานใหม่ๆตอบสนองต่อพลวัตเทคโนโลยีและตลาดได้ดีกว่ามาทดแทนการปิดกิจการหรือโรงงานที่ไม่สามารถแข่งขันหรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการได้อีกต่อไป

ส่วนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์นั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลกระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรง โรงงานที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเก่าบางแห่งต้องปิดกิจการโดยไม่ทันตั้งตัว ยกตัวอย่างประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD-Hard Disk Drive) สำคัญของโลก อัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้ไทยจะสามารถส่งออก HDD เป็นมูลค่าราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวราว 0.9-5.0% จากปี 2561 และเติบต่ออย่างต่อเนื่องไปแตะจุดสูงสุดในปี 2563 และหดตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม SSD ได้ทำให้ SSD เข้ามาแทนที่ HDD มากขึ้นในอัตราเร่ง และอาจมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% ในไม่ช้าแล้ว อุตสาหกรรม HDD ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของโลก ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรม HDD จะปรับตัวกันอย่างไร บทบาทของรัฐที่เหมาะสมควรจะเป็นเช่นใดเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางทิศทางให้ชัดเจน

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าขั้นกลาง แผนวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) วงจรรวม (Integrated Circuit: IC) แม้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาและเทคโนโลยีที่สูงกว่า ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและทุนสูงจึงไม่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ดีนัก และไม่ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาเซียนโดยรวมได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอันเป็นผลจากสงครามทางการค้า แต่ไทยกลับเป็นประเทศที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าโดยตรง (FDI Capital Inflows) ค่อนข้างต่ำ จากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง

ในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ สงครามทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยีรอบใหม่อาจเกิดขึ้นได้อีก ระบบการค้าโลกจะไร้ระเบียบมากขึ้นจะเป็นเรื่องของการต่อรองและการตอบโต้กันไปมา มากกว่าการทำกฎระเบียบที่ตกลงกันไว้มาเป็นกรอบในการดำเนินการทางการค้า คือ เป็น Deal-Based มากกว่า Rule-Based มากขึ้น หากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งก็อาจถอนตัวออกจาก Trans-Pacific Partnership และยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework ของรัฐบาลไบเดน ไทยต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศใหม่เพื่อให้รับมือความท้าทายใหม่ ๆ และไทยควรจะเตรียมตัวสำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น 10% จากทุกประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 2 คาดการณ์ได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2 จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายออกจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพาต่อจีนมากขึ้น เอาการจ้างงานการผลิตสินค้ากลับมายังสหรัฐอเมริกา เพิ่มการจ้างงานในประเทศ ลดการนำเข้า ลดการขาดดุลการค้า

ข้อมูลล่าสุดของภาคอุตสาหกรรมส่งออกได้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ปรากฎอยู่ในหลายธุรกิจอุตสาหกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นใช้ทุนและเทคโนโลยีต่ำ ไทยก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะนี้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ล้วนต้องอาศัยแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ข้อมูลอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยไตรมาสแรกอยู่ที่ 60.45% สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 64.19% ผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 30% ยังคงลดลงต่อเนื่อง คาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะกระเตื้องขึ้น อัตราการค้าของประเทศดีขึ้นจากราคาสินค้าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและราคาสินค้านำเข้าเฉลี่ยปรับตัวลดลง ไทยมีการเกินดุลสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในอาเซียน ไทยขาดดุลในสินค้าเทคโนโลยีขั้นต่ำและขั้นสูงแต่เกินดุลในสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลาง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง อัตราการเข้าพักสูงกว่า 75% เป็นอัตราการเข้าพักสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ นักท่องเที่ยวเข้าไทย 9.37 ล้านคน สร้างรายได้เบื้องต้น 3.71 แสนล้านบาท

การปรับและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดยาก เพราะไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นระยะ ๆ อย่างเฉพาะหน้าในเดือนสิงหาคมนี้ ก็มีการพิจารณาคดีการเมืองโดยองค์กรอิสระที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ สร้างความไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุน ต่างชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมือง ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากปัญหาการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองหรือองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 หากมีการยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมโดยองค์กรอิสระ ประเทศไทยอาจเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ องค์กรรัฐจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติในเรื่องระบบนิติรัฐนิติธรรม นักลงทุนต่างชาติอาจหวั่นไหวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ