นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเตรียมพรรคสำรองไว้รองรับ หาก "ก้าวไกล" ถูกศาลสั่งยุบพรรคว่า สามารถดูได้จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เคยถูกยุบพรรคมาแล้ว รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ทุกฝ่ายคาดหมายได้ยากว่าเราต้องจัดการอย่างไร
แต่สิ่งสำคัญที่พรรคก้าวไกลอยากบอกสังคม คือ การยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ มีสิทธิ์ มีเสียง เพราะประชาชนให้การสนับสนุน ดังนั้นหากพรรคการเมืองถูกทำลายลง ไม่สามารถมีพื้นที่ต่อไปในสังคม หรือในวงการเมืองได้ ก็ควรจะมาจากการที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ดังนั้น ขอให้การยุบพรรคเกิดขึ้นโดยประชาชน
"การยุบพรรคโดยกระบวนการศาล สำหรับใน พ.ศ.นี้ ควรจะหมดไปได้แล้ว เราควรให้ประชาชนเป็นคนวินิจฉัยเอง ว่านโยบายแบบไหน พรรคการเมืองแบบไหนที่เขาต้องการ" นายรังสิมันต์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ถือเป็นวันสำคัญกับพรรคก้าวไกลเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ถ้าพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย พยานหลักฐานต่าง ๆ กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่นำไปสู่การยุบพรรคได้ แต่ด้วยความที่เป็นคดีสำคัญ และเป็นคดีความที่สังคมเองก็จับตามอง เพราะพรรคก้าวไกลในปี พ.ศ.นี้ เป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในสภาฯ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกว่า 14 ล้านคน ดังนั้นการที่พรรคการเมืองถูกยุบง่าย ๆ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยอยากเห็น
"สังคมไทยเห็นการยุบพรรคมามากมายพอแล้ว และพบแต่เรื่องความขัดแย้งใหม่ การยุบพรรคการเมือง ควรหมดไปได้แล้วจาก พ.ศ.นี้ จึงคาดหวังวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะเป็นวันที่สังคมไทยจะไม่มีการยุบพรรคอีกต่อไป" นายรังสิมันต์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความพร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น เป็นแค่การพูดถึงความพร้อมทั่วไปเท่านั้น แต่วันที่ 7 ส.ค.นี้ อยากให้สังคมโฟกัสว่าไม่ควรมีการยุบพรรคอีกแล้ว โดยยังมั่นใจในข้อกฎหมาย และเพื่อน สส.ก้าวไกลที่จะอยู่กับพรรคต่อทุกคน
"วันนี้การยุบพรรคยังมาไม่ถึง แต่ทุกคนพูดเหมือนกับว่าพรรคจะต้องถูกยุบแน่ ยังไงก้าวไกลก็คงต้องถูกยุบแน่นอน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็นแบบนี้ การทำงานการเมืองอยู่บนพื้นฐานความกลัว การทำนโยบายต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ สุดท้ายนโยบายหลายอย่างต้องไปดูข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ไม่ใช่ทำนโยบายต่าง ๆ ได้ ต้องทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน และกระบวนการ
เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำแล้ว ก็ไม่มีการกระทำใดที่บอกได้ว่าเรามีการกระทำใดเพิ่มเติมที่นำไปสู่การยุบพรรค เราไม่ได้ละเมิดกฎหมายใด ๆ เมื่อไปดูกระบวนการของ กกต.ก็มีปัญหาจริง ๆ แต่วันนี้ สังคมมาโฟกัสก้าวไกลถูกยุบ เราเองอาจจะโฟกัสก้าวไกลถูกยุบจนลืมไปว่ามีการใช้อำนาจวิธีการบางอย่างที่อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า แล้วทำให้บุคคลเหล่านี้ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย อยากให้สังคมช่วยกันโฟกัสและช่วยกันไปดูว่ากระบวนการที่ กกต.ทำไปถูกต้องหรือไม่...คำถามที่สำคัญ คือ กระบวนการที่เกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายให้ความเป็นธรรมกับเรา ในฐานะพรรคการเมือง และให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เลือกตั้ง 14 ล้านเสียงหรือไม่" นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวถึงคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ตนในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่กรณีที่ถึงขนาดให้นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งศาล จากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็อาจจะเกินเหตุไป
"ควรใช้กระบวนการทางการเมือง เมื่อตั้งคนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอเป็นรัฐมนตรี ประชาชนก็ควรที่จะได้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ และมีมาตรการทางการเมืองตามมา ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด" นายรังสิมันต์ กล่าว
ส่วนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนส.ค. และมีสมการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาเกี่ยวข้องนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วง ซึ่งได้เห็นว่าสุดท้ายแล้ว นายทักษิณ ก็ไม่ได้กลับมาเลี้ยงหลาน แต่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วไม่ทราบว่าสุดท้ายจะไปสุดที่ตรงไหน
"เห็นว่าพระอาทิตย์มีดวงเดียว ถ้าจะมีพระอาทิตย์ 2 ดวง ก็ไม่รู้จะอยู่กันยังไง มันเป็นความยากที่รัฐบาลเศรษฐาต้องบริหารจัดการ เพราะความยากตรงนี้ หมายถึงบรรดาข้าราชการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลนี้ ควรต้องคิดแล้วว่าต้องฟังใคร จะมองไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า หรือมองไปที่คำสั่งของนายเศรษฐา เราไม่รู้ว่าตอนนี้ใครมีอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาลชุดนี้" นายรังสิมันต์ ระบุ