คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยผลสอบชี้การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รพ.ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีให้นายทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวอยู่นานถึง 181 วัน ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจัดส่งรายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเนื่องจากเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ทั้งนี้ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน พ.ย.66 ว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอนุญาตให้นายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่นอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับกรณีการส่งตัวนายทักษิณ ออกไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพิจารณาจากการชี้แจงของแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม.ซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95 ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ต่อเนื่องวันที่ 23 ส.ค.66 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้น ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควรแล้ว
ส่วนกรณีที่ รพ.ตำรวจรับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพิเศษชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษานั้น เห็นว่า การที่นายทักษิณ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤต ซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เนื่องจากเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่านายทักษิณ ยังพักที่ห้องพิเศษดังกล่าวมาโดยตลอด โดย รพ.ตำรวจชี้แจงว่านายทักษิณมีภาวะวิกฤตสลับปกติ ซึ่งหากนายทักษิณ ป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤตตามที่ชี้แจงจริงก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤตและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
ดังนั้น จึงเห็นว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและ รพ.ตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเรือนจำฯ ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณ ออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณ ได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม.ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่หากนายทักษิณ มีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามอ้างก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน
ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณ สามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำฯ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณ สามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่พบว่าต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับ รพ.ตำรวจมาโดยตลอด
ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณ มีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ นานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำฯ ได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและ รพ.ตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
กสม.เห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รพ.ตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของ ป.ป.ช. โดยทราบว่า ป.ป.ช. รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป