ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ทั้ง 9 เสียงให้ยุบพรรคก้าวไกลเพื่อหยุดยั้งการกระทำล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้คดีพรรคก้าวไกลหาเสียงเลือกตั้งด้วยการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพัน
พร้อมกันนั้นยังมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่าง 25 มี.ค.64- 31 ม.ค.67 เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่
สำหรับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดที่ 1 และ 2 ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงดังกล่าวมีจำนวนรวม 11 คน เป็นเวลา 10 ปี ได้แก่
(1) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(2) นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(3) นางสาวธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
(4) นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
(5) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
(6) นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
(7) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง
(8) นายอภิชาต ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(9) นางสาวเบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(10) นายสุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
(11) นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่าพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง ดังนั้น จึงขอให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี
การยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 กกต.มี "หลักฐานอันควรเชื่อได้" ว่าพรรคการเมืองกระทำการเข้าลักษณะ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และกรณีที่สอง "เมื่อปรากฎ" ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 นายทะเบียนฯ ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต.ดังนั้น หาก กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมือง มีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติ ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุด้วยว่า คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน และมูลคดีเดียวกัน ศาลย่อมไต่สวนพยานหลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงอันเป็นยุติแล้วในคำวินิจฉัย ที่ 3/2567 ว่าพฤติการองพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อการล้มล้างการปกครองฯ ข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีนี้ด้วย
ทั้งนี่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ระบุว่า พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 มีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ในที่สุด เข้าลักษณะการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญ ยังเห็นว่า เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองต้องเคร่งครัด ระมัดระวัง ให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) เป็นพฤติการณ์ร้าบแรง กฎหมายดังกล่าวใช้กับทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม
"หากมีพฤติการณ์ร้ายแรง กฎหมายจำเป็นต้องหยุดยั้งการทำลายหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าระดับใด ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูต และการต่างประเทศที่พึงปฏิบัติต่อกัน"
กรณีที่พรรคก้าวไกลโต้แย้งว่าศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นการเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายกิดประสิทธภาพ แม้ไม่ได้กำหนดให้มีการยุบพรรคโดยตรง แต่มีเจตนาให้ปกป้องประชาธิปไตยและให้อำนาจในการยุบพรรค
กรณีที่พรรคก้าวไกลโต้แย้งว่า กกต.ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงแสดงพยานเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้นก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะเมื่อครั้งที่พรรคก้าวไกลถูกร้องในคดีที่ 3/2567 กกต.ก็เคยให้โต้แย้งมาแล้ว และเมื่อมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ก็ไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นได้
กรณีที่พรรคก้าวไกลโต้แย้งว่าไม่อาจนำคำวินิจฉัยที่ 3/2567 มาเป็นหลักฐานในคดีนี้ แต่ศาลฯ เห็นว่าคดีดังกล่าวมีมูลเหตุเดียวกัน ต่างกันแค่มาตรการบังคับ จึงไม่จำเป็นไต่สวนใหม่
กรณีที่พรรคก้าวไกลอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของ สส.ในการเสนอญัตติขอแก้ไขมาตรา 112, สส.ไปเป็น นายประกันให้ผู้ต้องหาในคดี 112, สส.ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี 112 นั้นฟังไม่ขึ้น แม้ไม่ใช่ผู้บริหารพรรค แต่การเคลื่อนไหวสอดรับกับมวลชนที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุอีกว่า เมื่อสั่งยุบพรรคแล้ว ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มี.ค.64-31 ม.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค มีกำหนดเวลา 10 ปี และจะไม่สามารถจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค
- 30 พ.ค. 66 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องอัยการสูงสุดให้ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้พรรคก้าวไกลยกเลิกนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112
- 25 ธ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล
- 31 ม.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งพรรคก้าวไกลยุตินโยบายแก้ไขมาตรา 112 ชี้เป็นการล้มล้างการปกครอง
- 1 ก.พ. 67 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้อง กกต.ให้ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล
- 12 มี.ค.67 กกต.มติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล-ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ปมแก้ ม.112
- 3 เม.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลไว้วินิจฉัย
- 10 เม.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาก้าวไกลแจงคดียุบพรรค ครั้งที่ 1
- 17 เม.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญ ขยายเวลาก้าวไกลยื่นชี้แจงปมยุบพรรค ครั้งที่ 2 อีก 15 วัน
- 1 พ.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญ ขยายเวลาก้าวไกลยื่นชี้แจงปมยุบพรรค ครั้งที่ 3 อีก 15 วัน
- 4 มิ.ย. 67 พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหา
- 12 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกพยานหลักฐานคดียุบพรรคก้าวไกล
- 18 มิ.ย.67 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า
- 9 ก.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐาน
- 17 ก.ค.67 ศาลรัฐธรรมนูญ ยุติไต่สวนคดียุบพรรคก้าวไกล นัดลงมติ 7 ส.ค.