(เพิ่มเติม) ศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งรับ-ไม่รับฟ้องคดีหวยบนดิน ให้ส่งศาลรธน.ตีความก่อน

ข่าวการเมือง Wednesday May 14, 2008 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังไม่มีความเห็นในวันนี้ว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีทุจริตหวยบนดิน เนื่องจากจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(คปค.)ที่แต่งตั้งคตส.และการต่ออายุการทำงาน คตส.ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 หรือไม่ 
นายรุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิจารณาคำฟ้อง, คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 และคำร้องของจำเลยที่ 31-47 ลงวันที่ 3 เม.ย.51 ซึ่ง คตส.ในฐานะโจทก์อ้างว่ามีอำนาจตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.2550
จำเลยที่ 31-47 ซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการและพนักงานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โต้แย้งว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 และคตส.เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อตรวจสอบเฉพาะการดำเนินโครงการหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในรัฐบาลชุดก่อนไม่ใช่บังคับใช้กับบุคคลทั่วไป จึงเป็นการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่กระทบกระเทือนสาระสำคัญสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการที่กฎหมายมุ่งหมายใช้บังคับเฉพาะกรณี และเฉพาะบุคคล จึงขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 29
นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 กำหนดอายุการทำงานของ คตส.ไว้ 1 ปี ตั้งแต่ 30 ก.ย.49-30 ก.ย.50 ซึ่งก่อนที่ คตส.จะหมดอายุลง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ออกกฎหมายเพื่อต่ออายุ คตส.อีก 9 เดือน แต่ก่อนพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.50 ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ดังนั้น การที่รัฐตั้งหรือต่ออายุองค์กรใดขึ้นมาจะต้องอยู่ภายใต้บังคับและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 29 แต่จากการที่ สนช.ตรากฎหมายเพื่อต่ออายุ คตส. ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรใหม่ซึ่งไม่ใช่องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ศาลพิเคราะห์คำร้องของจำเลยที่ 31-47 แล้ว จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ที่ตั้ง คตส.ขึ้นมานั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ที่ต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.ไปจนถึง 30 มิ.ย.51 นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้อง, คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ 1 และคำร้องของจำเลยที่ 31-47 ต่อไป ให้ถ่ายสำเนาดังกล่าวทั้งหมดและรายงานกระบวนการพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

แท็ก ศาลฎีกา   คตส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ