ไม่รอด! มติ ศาล รธน.5 ต่อ 4 ให้"เศรษฐา" หลุดเก้าอี้นายกฯ -ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ข่าวการเมือง Wednesday August 14, 2024 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่เคยถูกพิพากษาโทษจำคุก เพราะนายเศรษฐาย่อมต้องรู้คุณสมบัติต้องห้ามของนายพิชิตก่อนแต่งตั้งแล้ว จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เหมาสมด้วยไม่เพียงการอ้างความเห็นของกฤษฎีกาเท่านั้น

และเมื่อนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย

คดีนี้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา จากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ควรรู้ หรือรู้อยู่แล้วว่าเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของทั้ง 2 คนสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

ในภายหลัง นายพิชิต ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ จึงรับคำร้องเฉพาะส่วนของนายเศรษฐาไว้วินิจฉัย จากนั้นได้รับคำชี้แจงทั้งเอกสารหลักฐานของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีรวมไว้ในสำนวน ซึ่งศาลเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยไว้ให้เหลือเพียงกรณีเดียว คือ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

ศาลฯ ระบุว่าได้พิจารณาเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญว่าได้วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงได้บัญญัติเป็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามเพิ่มเติมจากลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.

ทั้งนี้ การที่นายเศรษฐาอ้างว่ามีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองจำกัด ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยได้ว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด

นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงปรากฎในคำสั่งศาลฎีกาต่อคดีของนายพิชิตว่ามีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นกับการนำถุงกระดาษใส่เงินสดมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกา ซึ่งศาลได้สั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล อันเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไปแล้ว อีกทั้สภาทนายความได้ลบชื่อของนายพิชิตออกจากทะเบียนทนายความด้วย

ศาลเห็นว่า นายกรัฐมนตรี รู้ หรือ ควรรู้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของนายพิชิตมาโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอให้ เป็นรัฐมนตรี จึงแสดงให้เห็นว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทำฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะด้วยเช่นกัน

ตุลาการ เสียงข้างมาก 5 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ส่วนตุลาการ เสียงข้างน้อย 4 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ