การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่ง กมธ.วิสามัญที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธานได้พิจารณแล้วเสร็จในวาระ 2 และวาระ 3
ในการพิจารณาวาระสอง มติเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอต่อสภาฯ สำหรับประเด็นที่สภาฯ อภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง คือ ร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ออกเสียงที่เป็นข้อยุติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับเดิม กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ผู้มาออกเสียงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดย กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว คือ เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดย กมธ.ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดในเรื่องที่ทำประชามตินั้นด้วย ซึ่งนายวุฒิสาร ชี้แจงว่า การออกมาทำประชามติถือเป็นหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องมีช่องให้งดออกเสียงเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ทั้งนี้มี สส.พรรคภูมิใจไทย สงวนความเห็นให้เพิ่มหลักเกณฑ์ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์ที่ใช้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของมวลมหาประชาชน แต่ สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นทักท้วงและสนับสนุนการแก้ไขตาม กมธ.เสียงข้างมาก
ด้าน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยตอนหนึ่งว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอวิกฤตของปัญหา โดย 1 ทศวรรษที่ผ่านมาพบประจักษ์พยานเหตุการณ์สำคัญ คือ ยุบพรรคก้าวไกลตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค, สั่งให้นายเศรฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และคำถามที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เผชิญคือกังวลว่าจะซ้ำรอยการหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ บริหารประเทศไม่ต่อเนื่อง ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นวิกฤตที่มีต้นตอจากรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เป็นจริงใน 4 ปี
หลังจากที่ประชุมอภิปรายในวาระ 2 เรียงลำดับมาตราแล้วเสร็จได้ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขทั้งฉบับตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยมติเอกฉันท์ 409 เสียง จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในลำดับต่อไป
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ในวันนี้สภาฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขในวาระที่ 3 แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งร่างดังกล่าวเข้าสู่การกลั่นกรองของวุฒิสภา และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ดังนั้นโจทย์สำคัญที่สุดเฉพาะหน้าในขณะนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องการกำหนดคำถามประชามติสำหรับประชามติครั้งแรก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยเสนอให้ใช้คำถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์" ซึ่งพรรคประชาชนมีความกังวลว่าการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สะดุดลงและไม่ประสบความสำเร็จ ด้วย 3 เหตุผล คือ
1.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรียุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เป็นการถาม 2 ประเด็นใน 1 คำถาม โดยมีการบรรจุเงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งการออกแบบคำถามลักษณะนี้อาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม (เช่น เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเรื่องหมวด 1 และ หมวด 2) มีความลังเลใจว่าควรจะลงมติเช่นไรที่สะท้อนเจตจำนงหรือจุดยืนของตนเอง และทำให้ในบรรดาคนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะลงคะแนน "เห็นชอบ" เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ
2.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประสบปัญหาในเชิงกฎหมาย เพราะเมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กันโดยธรรมชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีการยกร่างเนื้อหาบางส่วนในหมวด 3 เป็นต้นไป ที่ทำให้เกิดความจำเป็นทางกฎหมายที่จะต้องแก้ไขบางข้อความในหมวด 1 และ หมวด 2 ให้สอดคล้องกับหมวดอื่น ๆ แต่การแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ในกระบวนการดังกล่าว หากไม่เปิดให้มีการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
3.คำถามประชามติที่คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ เศรษฐาเสนอ เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองในบริบทปัจจุบันได้ เพราะเมื่อเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือการออกแบบกติกาการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายท่ามกลางความเห็นที่แตกต่าง การปิดกั้นข้อเสนอจากประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 (ที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ถูกมองว่าสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2560 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 มาโดยตลอด
นายพริษฐ์ กล่าวว่า เมื่อประเทศกำลังจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ตนและพรรคประชาชนจึงหวังว่า คณะรัฐมนตรีในยุคนายกฯ แพทองธารจะเห็นด้วยกับข้อกังวลดังกล่าว และทบทวนคำถามประชามติ โดยหันมาใช้คำถามที่มีลักษณะเปิดกว้างว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ)"
"นอกจากที่จะหวังให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว พรรคประชาชนยังมีญัตติเรื่องคำถามประชามติที่เสนอโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9(4) ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาได้ทันทีหากเห็นว่ามีความเร่งด่วน ในเมื่อรัฐบาลใหม่จะต้องตัดสินใจเรื่องคำถามประชามติในเร็ว ๆ นี้" นายพริษฐ์ กล่าว