นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) เผยที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เปิดทางให้กรรมการบริหารพรรคฯ ไปรวบรวมเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ เนื่องจากไม่พอใจท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคฯ ที่ไม่ได้มาร่วมโหวตสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลเลย และอยู่เบื้องหลังการยื่นเรื่องถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
"มีการพูดคุยในที่ประชุม สส. พบว่า สส.หลาย ๆ ท่านมีความไม่สบายใจถึงพฤติกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่ได้มาร่วมโหวต ประกอบกับหลายสิ่งหลายอย่าง การยื่นถอดถอนนายกฯ เศรษฐา คนที่อยู่เบื้องหลังทุกคนทราบกันดี เป็นสิ่งที่ สส.พรรคเพื่อไทยสะท้อนในที่ประชุม" นายสรวงศ์ กล่าว
โดยที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งภายในวันนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนจะร่วมกับใคร ไม่ร่วมกับใคร ไม่มีข้อกฎหมายห้าม แต่เราอยู่ด้วยกันต้องมีความสุขทั้งสองฝ่าย
ส่วนการส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลนั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์อย่างเดียว ในฐานะเลขาธิการพรรค ก็ต้องหาเสียงในสภาฯ ให้มากที่สุด เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล โดยยังมีพรรคเล็ก ๆ อยู่ 1-2 เสียงก็ทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่วน 6 เสียงของพรรคไทยสร้างไทยที่โหวตให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็มีความเป็นไปได้ เพราะเมื่อลงความเห็นให้นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็มีความคิดที่ตรงกัน อาจทำงานร่วมกันได้
สำหรับกลุ่ม สส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร.นั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า สส.มีเอกสิทธิ์ในการทำงาน พรรคเพื่อไทยก็คงเชื้อเชิญ แต่ท่านใดสะดวก ท่านใดไม่สะดวก ก็เป็นเรื่องของบุคคล และจะติดต่อทาบทามถ้าสะดวกใจมาก็มา ถ้าไม่สะดวกใจก็แยกกันเดิน หากมาร่วมรัฐบาลแล้ว จะได้โควตารัฐมนตรีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และไม่มีข้อห้ามทางกฎหมายที่จะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล
"ไม่มีข้อห้าม เป็นอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียว มีเพียงแต่ข้อตกลงโควตาของแต่ละพรรค ส่วนการแต่งตั้ง ครม.ชุดนี้เป็นเรื่องของนายกฯ" นายสรวงศ์ กล่าว
การส่งเทียบเชิญนั้นจะต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการ แต่จะประสานกันภายในก่อน เพื่อให้เกียรติกับผู้ที่ได้พูดคุยกันเอาไว้ โดยความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็ต้องดูเป็นรายบุคคล และดูตามสถานการณ์ จะดำเนินการอย่างประนีประนอมที่สุด และราบรื่นที่สุด
"ไม่ใช่งูเห่า เราบอกว่าใครที่พร้อมและความคิดเห็นตรงกัน ก็ไปทำงานร่วมกันให้เป็นไปตามกระบวนการที่มองว่าการบริหารจัดการประเทศไปในทางเดียวกันดีที่สุด" นายสรวงศ์ กล่าว