นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และผู้อำนวยการพรรค เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย ได้ส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว
โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้นำคณะเข้าส่งเทียบเชิญถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเชิญเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยมีนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนรับ ที่รัฐสภา พร้อมระบุในหนังสือเชิญดังกล่าวระบุว่า ขอให้ส่งรายชื่อบุคคลที่เห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีส่งมายังพรรคเพื่อไทย ผ่านทางเลขาธิการพรรคโดยด่วนต่อไป
สำหรับขั้นตอนจากนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์จะเข่าสู่กระบวนการตามขั้นตอนข้อบังคับของพรรค ซึ่งได้นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.) เวลา 17.00 น. จากนั้นจะมีการประชุมร่วม กก.บห. กับ สส. ในเวลา 17.30 น. โดยวาระการประชุมจะเป็นการพิจารณาการร่วมรัฐบาล และการเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการประชุมนานพอสมควร เพราะจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณากัน และคงจะมีการเปิดรับฟังความเห็นกันอย่างกว้างขวาง
"พรุ่งนี้คงมีการหารือกันในประเด็นนี้ และขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะมีใครหยิบยกประเด็นใดเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งต้องเคารพผู้ที่เป็นองค์ประชุมในวันพรุ่งนี้ซึ่งจะมี 53 ท่าน กรรมการบริหาร 38 ท่าน และมี สส. 25 ท่าน มีส่วนหนึ่งซ้ำซ้อนกันคือ สส. ที่เป็นกรรมการบริหารด้วย 10 ท่าน" ผอ. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำ ที่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์และเทียบเชิญเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและร่วมมือกันบริหารประเทศ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรักความเข้าใจและการให้อภัยกับพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีฝ่ายที่ร่วมรัฐบาลและไม่ร่วม แต่เมื่อผ่านมติของพรรคทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนโควตารัฐมนตรีขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีว่าจะให้พรรคประชาธิปัตย์นั่งกระทรวงไหน เพราะวันนี้ไม่อยากก้าวล่วงไปถึงอำนาจนายกรัฐมนตรี และไม่กังวลการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี
นายสรวงศ์ กล่าวว่า มีการเทียบเชิญกันตั้งแต่เมื่อคืนนี้ หลังจากที่มีมติพรรคเพื่อไทยออกมาแล้ว ส่วนโควตารัฐมนตรีที่มีกระแสข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ 1 รัฐมนตรีว่าการและ 1 รัฐมนตรีช่วยนั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะแต่งตั้งเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ขอไม่ก้าวล่วง
ส่วนอุดมการณ์การเมืองแต่ละพรรคจะมีปัญหาในการทำงานร่วมหันหรือไม่นั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า อุดมการณ์ทางการเมืองอาจไม่เคยเหมือนกันเลยในอดีต แต่ ณ วันนี้ คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรคทั้งสองฝ่าย ทุกคนมุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน คือปัญหาของประชาชนต้องได้รับการแก้ไข สิ่งที่เราเห็นตรงกันคือประเทศชาติถอยหลังไปหลายปี มันถึงเวลาแล้วที่ต้องเดินหน้าร่วมกัน อะไรที่เป็นความไม่เข้าใจกัน ทิ้งไว้ข้างหลังดีกว่า และนอกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังมีพรรคอื่นที่เรายกหูไปเทียบเชิญเข้ามาร่วมด้วยเหมือนกัน
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นในบริษัทเอกชน และการลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ เข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสรวงศ์ ระบุว่า เรามีฝ่ายกฎหมายดูอยู่ มองว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นประเด็น ทั้งนี้เป็นสิทธิของนายเรืองไกร