ปชป. เลือดไหลไม่หยุด "เอิร์ธ พงศกร - ศิริโชค" โบกมือลา

ข่าวการเมือง Friday August 30, 2024 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศกร ขวัญเมือง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ขอยุติบทบาทการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ หลังไม่เชื่อมั่นในความมีส่วนร่วม ความเสมอภาค และอุดมการณ์ของพรรคอีกต่อไป ภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ มีมติเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ส่งผลให้บรรดาสมาชิกพรรคทยอยลาออก ซึ่งก่อนหน้านี้มีนายศิริโชค โสภา ได้โพสต์ลาออกจากเป็นสมาชิกพรรคด้วยเช่นกัน

นายพงศกร ระบุว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต ซึ่งในตอนนั้นยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน ถึงขั้นที่อาจจะนิยมน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยซ้ำ แต่ในวันนั้นตนเองก็ไม่ได้ลังเล และได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคด้วยตนเอง เพราะเชื่อมั่นในความเป็นสถาบันของพรรคที่มีหลักการ และทำให้เชื่อว่าหากได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังสามารถทำตามนโยบายตามความตั้งใจผ่านพรรคประชาธิปัตย์ได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ความมีส่วนร่วม พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่สมาชิกพรรคทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพรรค โดยเฉพาะกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ที่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกพรรคทั้งประเทศ ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความยึดโยง ทั้งนโยบาย แนวทางพรรค และอุดมการณ์กับสมาชิกพรรคที่มีแนวความคิดที่เหมือนกันอย่างแท้จริง

  • ความเสมอภาค พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ พรรคที่ทุกคนสามารถขึ้นมามีบทบาทได้ ด้วยความที่พรรคมีกลไกดั่งข้อแรก ทุกคน ไม่จำเป็นต้องรวย หรือมีทุน ก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคได้ นโยบายต่าง ๆ ย่อมไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน ทำให้นโยบายสามารถผลักดันได้อย่างเต็มที่
  • อุดมการณ์ พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ 10 ข้อที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะข้อแรกคือ "พรรคจะดำเนินการเมือง โดยวิถีทางอันบริสุทธิ์" จึงเห็นว่าหลายครั้งที่พรรคเพียงแค่ถูกตั้งข้อสงสัยต่าง ๆ พรรคจะมีการแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการแสดงสปิริตนักการเมือง ลาออก หรือ ถอนตัวจากการบริหาร เพราะนั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำให้เป็น บรรทัดฐานที่ต้องการให้ประเทศไทยมีนักการเมืองที่ดี
"แต่ในวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งทั้ง 3 อย่างนี้ จึงไม่เชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้ผมสามารถใช้ความรู้ ความตั้งใจ และความสามารถทำประเทศให้ดีขึ้นได้"

ขณะที่วานนี้ นายศิริโชค โสภา อีกหนึ่งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาโพสต์หนังสือลาออกจากเป็นสมาชิกพรรคเช่นเดียวกัน หลังเป็นสมาชิกพรรคกว่า 30 ปี

นายศิริโชค ระบุว่า ได้เริ่มชีวิตการเป็นนักการเมือง โดยเป็น สส.ครั้งแรก เมื่อปี 2544 และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องอีก 4 สมัย แม้ว่าจะเป็นฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และได้มีส่วนร่วมกับทีมประชาธิปัตย์ทุกครั้ง ที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

"ไม่เคยคิดว่าวันนี้จะมาถึง เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดเสมอว่าที่นี่คือบ้านเดียว และบ้านหลังสุดท้ายของผม แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน มีอุดมการณ์ ที่ต่างไปจากพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเป็นอย่างมาก จึงมีความจำใจต้องเดินจากไป แม้จะมีความอาลัยอาวรณ์ต่อพรรคมากก็ตาม เพราะผมเชื่อเสมอว่า นักการเมืองต้องมีสัจจะวาจา และอุดมการณ์ที่ต้องรักษา หากปราศจากทั้ง 2 สิ่งนี้ ก็เป็นได้แค่นักเลือกตั้ง" นายศิริโชค ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ