การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม โดยมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ปรับลดกว่า 7,824 ล้านบาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เปิดเผยว่า กมธ. ได้เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.67 จนแล้วเสร็จวันที่ 28 ส.ค.67 โดยได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งหมด 2,987 หน่วยรับงบประมาณ
ทั้งนี้ กมธ. ได้ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับ จากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความจำเป็น ความต้องการในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนหน่วยรับงบประมาณภายใต้หลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม
รมช.คลัง กล่าวว่า มีข้อเสนอในภาพรวมที่สำคัญ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับการออกมาตรการควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ การกำหนดนิยามของรายจ่ายลงทุนให้มีความชัดเจน หลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สอดคล้องกับเงินสะสม เพื่อให้การประมาณการการจัดเก็บรายได้สะท้อนกับความเป็นจริง หน่วยรับงบประมาณควรมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยรับงบประมาณ โดยสามารถแสดงข้อมูลในมิติด้านรายรับรายจ่าย ตลอดจนภาระหนี้ ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานของ กมธ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกมธ. รวม 9 คณะ และ กมธ.ได้ปรับลดงบประมาณ จำนวน 7,824,398,500 บาท โดยได้พิจารณาจากความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป้าหมายและผลการดำเนินงานจริง ความคุ้มค่า ความพร้อมในการดำเนินงาน และศักยภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเงินนอกงบประมาณ หรือรายได้ที่จัดเก็บเองของหน่วยรับงบประมาณ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
ส่วนการเพิ่มงบประมาณนั้น กมธ. ได้พิจารณาตามความเหมาะสม จำเป็น ให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน ดังนี้
1. งบกลาง เป็นค่าใช้จ่ายรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิเงินอุดหนุน ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สูงอายุแบบครอบครัวอุปถัมภ์
3. กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิในการชำระเงินสมทบตามแผนงบประมาณรายจ่ายระยะปานกลางสำหรับเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่รัฐค้างชำระ
4. กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า สำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน
5. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข การก่อสร้าง อาคารทางการแพทย์ และหอพัก สถาบันพระบรมราชชนก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผลิตนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาด้านสาธารณสุข ผู้ช่วยพยาบาล และผู้ช่วยสาธารณสุข
6. สถาบันพระปกเกล้า เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้อง Data Center เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลางรวบรวมฐานข้อมูลที่สำคัญ ห้องเรียนอัจฉริยะสำหรับฝึกอบรม และประชุมทางไกล
7. หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานให้เพียงพอ
8. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
9. ทุนหมุนเวียน กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จ่ายให้กู้ยืมสำหรับผู้กู้ยืมรายเก่า ซึ่งมีสัญญาให้กู้ยืมตามกฎหมายแล้ว และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายการบริการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าบริการทางการแพทย์
10. แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อชุดทดสอบสารเสพติด
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ. ได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 2 รายการ คือ 1.การเปลี่ยนแปลงงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง และ 2.การเปลี่ยนแปลงงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการบุคลากรภาครัฐ ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากร สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 47 แห่ง
"การพิจารณารายละเอียดงบประมาณ ทั้งการปรับลด การเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว กมธ. ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความพร้อม และศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อน เป้าหมายการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญเพื่อและประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินการภายในกรอบวงเงินสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เศรษฐกิจเติบโต และมีความเข้มแข็ง รองรับผลกระทบ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก รวมทั้งสนับสนุนประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ พร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามในแต่ละมาตรา" นายจุลพันธ์ กล่าว