"บิ๊กป้อม" ปรับทัพใหม่ พปชร.ตั้ง กก.บห.แทนก๊วน "ธรรมนัส" ดึง "อุตตม-สนธิรัตน์" กลับพรรค

ข่าวการเมือง Friday September 6, 2024 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงมติเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยื่นลาออกไป 6 คน โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงนั่งหัวหน้าพรรคนำทัพต่อ ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคตามคาด พร้อมมีชื่อนายวัน อยู่บำรุง เป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรค

ในส่วนรองหัวหน้าพรรคมี จำนวน 8 คน ได้แก่

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3

นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 5

นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 6

นายชัยมงคล ไชยรบ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 7

นายอภิชัย เตชะอุบล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 8

พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ เหรัญญิกพรรค

นายสมโภชน์ แพงแก้ว นายทะเบียนพรรค

ส่วนกรรมการจำนวน 12 คน ประกอบด้วย นายอนันต์ ผลอำนวย, นายทวี สุระบาล, นายสุธรรม จริตงาม, นายกระแสร์ ตระกูลพรพงศ์, น.ส.กาญจนา จังหวะ, นายคอซีย์ มามุ, นายอัครวัฒน์ อัศวเหม, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย, นายชาญกฤช เดชวิทักษ์, ม.ล. กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และ นายวัน อยู่บำรุง

พล.อ.ประวิตร กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากวันนี้ไปพรรคพลังประชารัฐจะไม่มีวันแตกแยกอีก พรรคจะดำเนินการในแนวทางใหม่โดยมอบหมายให้รองหัวหน้าพรรค ควบคุมพื้นที่ และดูแล สส. ส่วนเลขาธิการพรรค เป็นฝ่ายสนับสนุน

"พรรค จะยึดมั่นในสถาบัน และปกป้องไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะทำเศรษฐกิจที่ทันสมัย ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี และความเป็นอยู่ที่สดใส เราจะร่วมกันทำให้พรรคเข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ดีมีสุข"

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐที่เกิดในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภายในพรรคอย่างเดียว แต่เกิดจากบุคคลภายนอกพรรคที่เข้ามาครอบงำ เข้ามาสั่งการจึงทำให้เกิดปัญหา ดูจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีบุคคลภายนอกเข้ามาสั่งการ ครอบงำ มีการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในพรรค แต่เรื่องนี้ผ่านไปแล้วไม่อยากพูดถึง ตอนนี้เราเดินหน้าทำงานต่อไป

ส่วนการทำงานร่วมกับพรรคประชาชนนั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย ส่วนจะทำงานร่วมกันแบบไหนต้องมีการพูดคุยกัน อย่างการอภิปรายในสภาฯ คงต้องคุยกันเรื่องเวลาที่ต้องมาแบ่งเวลากัน ส่วนการลงมติเป็นเรื่องของแต่ละพรรค คงไม่จำเป็นต้องตามกันทุกเรื่อง

พร้อมยืนยันว่า พรรคจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลมีหลายช่องทางทั้งในสภาฯ ผ่านการอภิปราย และการตรวจสอบด้านกฎหมาย ใครทำผิด ใครทำทุจริต เราก็ว่าไป เราจะทำเต็มที่ เมื่อก่อนเกรงใจกัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ