"จุลพันธ์" ย้ำกลุ่มเปราะบางได้เงินหมื่นแน่ ก.ย.นี้ มั่นใจปีงบ 68 จัดเก็บรายได้ตามเป้า

ข่าวการเมือง Monday September 9, 2024 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 ต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า รัฐบาลได้เตรียมกรอบงบประมาณสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ 450,00 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ยังขาดอยู่นั้น รัฐบาลใช้การบริหารจัดการงบประมาณในส่วนที่สามารถทำได้ เช่น ปี 2567 ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท รวมถึงยังมีงบประมาณส่วนอื่นอีกกว่า 23,000 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงปลายเดือนก.ย.นี้ และในปีงบประมาณ 2568 ก็จะมีการบริหารจัดการงบประมาณเช่นกัน

รัฐบาลจะได้มีการปรับเปลี่ยนโครงการฯ ภายหลังการปิดลงทะเบียน เมื่อรู้จำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดยหักลบกลุ่มเปราะบางออก ซึ่งจะทราบจำนวนผู้ขอใช้สิทธิที่ชัดเจน และรัฐบาลก็จะบริหารจัดการโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ และใช้การบริหารจัดการงบประมาณบางส่วน ซึ่งจากจำนวนผู้ลงทะเบียนขณะนี้ 32 ล้านคน ยังไม่หักกลุ่มเปราะบางออก อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งงบประมาณขาดดุลว่า หากดูในภาพรวมการจัดเก็บรายได้จาก 3 กรมหลักจัดเก็บภาษียังมีปัญหาคาราคาซังอยู่ โดยสัดส่วนการจัดเก็บรายได้เมื่อเทียบต่อ GDP ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องใน 10 กว่าปีย้อนหลัง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 14% หากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาเหมือนกัน หรือมีขนาดใกล้เคียง ควรจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 18-19% แต่ทั้งนี้ หน่วยงานจัดเก็บได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ แผนในการจัดเก็บ เพื่อยืนยันได้ว่าในอนาคตรัฐบาลสามารถดึงคนเข้าสู่ฐานภาษีได้

ส่วนข้อห่วงใยเรื่องการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดเก็บพลาดเป้า เพราะรัฐบาลตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้การช่วยเหลือประชาชนในเรื่องราคาพลังงาน ทำให้การจัดเก็บของกรมสรรพสามิตพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้าน บาท แต่ขณะนี้ยังเหลืออีก 1 เดือนก่อนจะหมดปีงบประมาณ 2567 ยืนยันว่าการจัดเก็บรายได้ไม่พลาดเป้า และเป็นไปตามกรอบที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ เพราะมีการใช้การบริหารจัดการในแง่มุมอื่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ การบริหารจัดการรายได้ของรัฐวิสาหกิจทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับในปีงบประมาณ 2568 รมช.คลัง กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพการทำงานหน่วยงานของกระทรวงการคลังในการดำเนินการเรื่องของรายได้ต่าง ๆ จะดำเนินการไปตามเป้าหมายทุกประการ และเรื่องการขาดดุลงบประมาณ กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการขาดดุลงบประมาณ การบริหารจัดการทำแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ซึ่งแผนการคลังระยะปานกลาง มีการปรับปรุงทบทวนอยู่ตลอด และล่าสุดมีการทบทวนเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

"ประเทศไทย เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องทำนโยบายในลักษณะขาดดุลการค้าไปก่อนในระยะสั้น จนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ และขยับเข้าสู่การทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะต่อไป ซึ่งการปรับลดการขาดดุลจากปี 2568-2571 เรามีแผนในการที่จะดำเนินการ เพื่อให้การขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือ 3.1% ต่อไปในอนาคต" นายจุลพันธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า หากในปี 2571 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ จะเป็นตัวยืนยันว่า กรอบหนี้สาธารณะลดลงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ หรือหนี้ครัวเรือนก็ตาม หากเราสามารถขยายการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้ในระยะกลาง และในระยะยาวต่อไป กรอบหนี้สาธารณะก็จะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ