"ณัฐพงษ์" ชำแหละนโยบายเรือธงรัฐบาลหวั่นเอื้อนายทุน ตั้งฉายารัฐบาล 3 นาย "นายใหญ่ นายทุน นายหน้า"

ข่าวการเมือง Thursday September 12, 2024 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายนโยบายของรัฐบาลว่า การแถลงนโยบายของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ครบรอบ 1 ปี จากการแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสาเหตุที่นำมาสู่การแถลงนโยบายในวันนี้ เป็นเพราะปัญหาหลักนิติรัฐใช่หรือไม่

สำหรับการอภิปรายของฝ่ายค้านในวันนี้จะมาในธีม "1 ปีที่สูญเปล่า 3 ปี เจ๊าหรือเจ๊ง" โดยเริ่มจากการที่มองว่า ประเทศไทยกำลังขาดระบบนิติรัฐ ที่คนที่มีอคติบางอย่างใช้อำนาจที่มี มาทุบทำลายประหารชีวิตพรรคก้าวไกล ที่วันนี้กลายมาเป็นพรรคประชาชน และเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่คณะรัฐมนตรีก็กำลังตกเป็นเหยื่อจนนำมาสู่การอภิปรายนโยบายในวันนี้ และประชาชนทุกคนกำลังตกเป็นเหยื่อของระบบการเมืองในวันนี้

*ตั้งฉายารัฐบาล 3 นาย "นายใหญ่ นายทุน นายหน้า"
"1 ปีที่สูญเปล่าจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการตัดสินใจ 3 ปีต่อจากนี้ เป็น 3 ปีที่ผมจะตั้งชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า รัฐบาล 3 นาย นายใหญ่ นายทุน นายหน้า ที่มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง พูดง่าย ๆ ไม่มีอนาคตที่ดีขึ้น หากเรายังอยู่ในระบบการเมืองแบบนี้ เพราะพวกท่านกำลังสยบยอมต่อกระบวนการนิติสงคราม ที่ทำลายหลักนิติธรรม นิติรัฐไปจนสิ้น" นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงระยะเวลา 1 ปีที่สูญเปล่า โดยได้ตั้งคำถามว่า ประชาชนได้อะไรกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบ้าง เริ่มจากกลุ่มคนยากไร้ สัญญาที่เคยให้ไว้ก็ไม่เป็นสัญญา เพราะเงินใหม่ยังไม่เข้า หนี้เก่ายังไม่แก้ กลุ่มเกษตรกรเจอกับปัญหาหมูเถื่อน และการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ภาคธุรกิจก็เจอกับปัญหาต้นทุนพลังงานที่ยังไม่ลดลง สินค้านำเข้าล้นทะลัก ประชาชนขาดความมั่นคงในชีวิต รัฐบาลขาดอำนาจนำในการบริหารราชการแผ่นดิน

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตอนพรรคเพื่อไทยหาเสียงก็บอกว่า ถ้าเป็นรัฐบาลจะแจกทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีการเลื่อนจ่ายเงิน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กับประชาชนได้ และปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินมาเป็นการทยอยจ่ายเงินสดผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้จ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดตามที่รัฐบาลมุ่งหวังจะสร้างเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สรุปได้ว่า นโยบายเรือธงเรื่องนี้แทบไม่เหลือเค้าโครงอะไรอีกแล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่า เรือธงลำนี้ให้ประชาชนขึ้น หรือให้นายคนไหนขึ้น

สำหรับเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สิน จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด พบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือน 90.8% ต่อจีดีพี เป็นยอดหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง และมีหลายส่วนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเป็นหนี้เสียไปแล้ว รวมถึงหนี้ในกลุ่มยานยนต์

ส่วนกลุ่มเกษตรกร พบว่า มีเกษตรกรกว่า 1 ใน 3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ตัวเลขจีดีพีเกษตรกรไทยลดลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติด และกลับพบแต่ปัญหาหมูเถื่อน ปลาหมอคางดำ ที่ทำลายโครงสร้างผลิตผลทางการเกษตร ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นปัญหาต่อประมงชาวไทย

ในส่วนของกลุ่มปัญหาภาคธุรกิจ ในขณะที่รัฐบาลประกาศปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดราคาพลังงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลยังไม่มีการเจรจาสัญญาสัมปทานกับนายทุนพลังงานแต่อย่างใด ทำให้ราคาไฟฟ้ายังแพง ซึ่งรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการตรึงค่าไฟ และติดหนี้การไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงร่างแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) มีโรงไฟฟ้า มีกำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคตเกินกว่า 40% เกินความต้องการ มีเพียงแต่กลุ่มทุนพลังงานเท่านั้นที่ได้ประโยชน์เข้ามาประมูลโรงไฟฟ้าที่ล้นเกิน และตามแผน PDP จะทำให้ไทยมีพลังงานไม่สะอาดเพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสินค้านำเข้าล้นทะลัก ซึ่งใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ทางกฏหมาย หรือการดำเนินธุรกิจผ่านตัวแทน ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายสูงกว่าผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยเปลี่ยนการนำเข้าแทนผลิตเอง ทำให้อัตราการจ้างงาน การใช้วัตถุดิบในประเทศลดลง และบางกรณีทำให้ต้องปิดกิจการลง

สำหรับปัญหาความมั่นคง จำนวนคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดไม่ถึง 10% และสวัสดิการไม่ถ้วนหน้า ทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาใหม่ ซึ่งประชาชนคาดหวังว่า รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเข้ามาแก้ปัญหา แต่กลับพบว่า 1 ปีที่ผ่านมามีแต่ความล้มเหลว ความล้มเหลวเป็นผลจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว นายกรัฐมนตรีขาดอำนาจนำ มีการสั่งการมากที่สุดแต่ไร้ผล เพราะราชการดูออกว่า สมาธิในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถูกเอาไปใช้กับการปกป้อง ช่วงชิง เก้าอี้ตำแหน่งและรัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ แบ่งสรรตามระบบโควตา เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงช่วงเวลา 3 ปีต่อจากนี้ ที่ตนคาดหวังว่า ด้านการศึกษาที่ไทยยังตามไม่ทันโลก มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน คนไทยมากกว่า 50% ของแรงงานทั้งหมดยังทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต

ด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ ที่สินค้านำเข้าล้นทะลัก SME และโรงงานทยอยปิดตัว และการแข่งขันอุตสาหกรรมในอนาคตยังขาดความชัดเจนและการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ประชาชนยังเจอกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่สร้างมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งอยากให้รัฐมนตรีชี้แจงรายละเอียดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อให้มากขึ้น

*ชำแหละนโยบายเรือธง เอื้อประชาชนหรือนายทุน

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงนโยบายเรือธงของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายเรือธงเพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือเพื่อ 3 นาย นายใหญ่ นายหน้า หรือนายทุน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ปรับเงื่อนไขกลับไปกลับมา จนขณะนี้ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้

ส่วนนโยบายเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่จะมีการเปิดกว้างในการประมูลหรือล็อกการประมูล เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นนโยบายเรือธงให้กลุ่มนายทุนใช่หรือไม่ หรือนโยบายแลนด์บริดจ์ มีการตั้งข้อสงสัยถึงการใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดินเป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งคำถามว่า เป็นการเอื้อให้กับนายหน้าค้าที่ดินใช่หรือไม่

"สรุป 3 นโยบายเรือธงของรัฐบาล มีประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการ วันนี้พวกผมอยากได้ยินคำตอบจากทุกท่าน" นายณัฐพงษ์ กล่าว
*หวังเร่งแก้รัฐธรรมนูญ

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และควรเป็นนโยบายเรือธง คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องให้ให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล โดยสามารถดำเนินการได้ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ควรบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. แก้ไขมาตรฐานจริยธรรม 2. ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3. เพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร และ 4. ยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศฉบับ คสช.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ