ปชน.รุมจวกนโยบายแรงงานไร้ทิศทาง ทวงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท

ข่าวการเมือง Friday September 13, 2024 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลวันที่ 2 สส.ฝ่ายค้าน ได้ทวงถามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งไม่มีนโยบายค่าแรง 600 บาทตามที่เคยเป็นนโยบายเรือธงในการหาเสียง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท 1 ครอบครัว 1 ซอฟเพาเวอร์ สร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น

นายเซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน ระบุว่า ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ชี้แจงว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด ต่อมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแต่ปรับเฉพาะบางจังหวัด เฉพาะโรงแรม 4 ดาวและมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และ ล่าสุดรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแค่บางกลุ่มอาชีพ บางไซส์ของสถานประกอบการ แต่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

"ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้าง หากมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลในทางลบก็จะอ้างว่าเป็นมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง แต่พอปรับขึ้น กับเคลมว่าเป็นผลงานของตนเอง ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน หรือเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี หากเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี คือจริงท่านอย่าได้เสนอหน้าให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก่อน ที่จะมีการประชุมและได้ข้อสรุปร่วมกัน ถ้าพวกท่านไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ควรพิจารณาตนเองด้วย ก่อนที่ประเทศจะเจ๊งไปมากกว่านี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทจะขึ้นได้ไหม ขึ้นได้กี่โมง ค่าครองชีพขึ้นไปไกลแล้ว" นายเซียกล่าว

ขณะที่ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน ระบุว่า แผนการพัฒนาแรงงานของรัฐบาลนั้นขาดแผนที่ชัดเจน ขาด Master plan ทำให้การพัฒนานั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ตามเป้าหมายใหญ่โตที่พูด รัฐบาลเองไม่เข้าใจปัญหาของแรงงานโดยเฉพาะในมิติการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้ทำนโยบายโดยตั้งอยู่บนข้อมูล เมื่อไม่มีข้อมูลก็ไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มองไม่เห็นความเป็นไปได้

"ไม่ใช่คิดใหญ่ทำเป็น แต่คิดใหญ่ ทำไม่ได้ เพราะไม่มี Master plan ค่อย ๆ คิด ๆ ค่อย ๆ ทำ แล้วสุดท้ายผลก็จะออกมาสะเปะสะปะ" นายสหัสวัต กล่าว

ตนอยากเห็นแผนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้จริง จากอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังจะตาย มาสู่อุตสาหกรรมใหม่ มีความมั่นคงทางรายได้ มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่เคยสอดคล้องกัน ทั้งนโยบาย งบประมาณ และการปฎิบัติ แบบที่เป็นมา หากการพัฒนาฝีมือแรงงานล้มเหลวและไม่เกิดขึ้นจริง อาจทำให้มีคนตกงานเพิ่มนับล้านคน และเราต้องนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากที่อื่นมาแทน นั่นเป็นเรื่องที่ตนไม่อยากให้เกิดที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ