"พรรคประชาชน" ย่องเงียบ ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ปมจริยธรรมทั้งระบบ

ข่าวการเมือง Tuesday September 17, 2024 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า พรรคฯ ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในกลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว ซึ่งตามกระบวนการต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ซึ่งอาจทันนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่กำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 25 ก.ย.นี้

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้านั้น และมีเวลาเพียง 2-3 วันอาจไม่พอในการตรวจสอบและบรรจุวาระ ดังนั้นในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมวิปร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งตนรับได้ หากจะเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปอีก 1 สัปดาห์

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ได้เสนอไปนั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป ทั้งนี้ ในประเด็นที่แก้ไขกับอำนาจขององค์กรอิสระดังกล่าว ตามเงื่อนไขจะต้องทำประชามติ ซึ่งอาจเป็นการทำประชามติ พร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) ทั้งประเทศตามที่รัฐบาลวางไทม์ไลน์ไว้

ส่วนข้อกำหนดในเรื่องคุณสมบัติที่ต้องซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์นั้น ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่ได้ปิดการแก้ไขในส่วนนี้ แต่ต้องพูดคุยในชั้นกรรมาธิการว่าทุกพรรคเห็นอย่างไร ส่วนใหญ่ใช้หลักการกว้าง และต้องพิจารณาแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้

อย่างไรก็ดี นายปกรณ์วุฒิ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นถึงการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ที่ค่อนข้างเงียบ เมื่อเทียบกับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นอื่น ๆ

สำหรับกรณีการแก้ไขจริยธรรมบางประเด็นที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากมองแบบนั้น การแก้ประเด็นอื่น ๆ ก็อาจถูกโยงว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อมีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน ก็จะไปพูดคุยรายละเอียดกันในชั้นกรรมาธิการเพื่อหาจุดที่ลงตัว

ทั้งนี้ สส.พรรคประชาชน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อประธานรัฐสภา ผ่านฝ่ายธุรการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย สส.พรรคประชาชน ที่ถูกยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบจริยธรรมกรณีร่วมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งในรายละเอียดนั้น จะเป็นการยกเลิกอำนาจของ ป.ป.ช. ในการสอบจริยธรรมของ สส.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ