พรรคร่วมรัฐบาล นัดถก 1 ต.ค. อัพเดทแก้รธน. จ่อขอเสียง สว.หนุนแก้จริยธรรมนักการเมือง

ข่าวการเมือง Monday September 23, 2024 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค.นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้นัด หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนนำเสนอ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไร พร้อมทั้งอัพเดทการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ตลอดจนความคืบหน้าของกฎหมายประชามติ และการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งจะได้ข้อยุติทั้งหมดในประเด็นเหล่านี้

ส่วนการเสนอแก้ไขประเด็นจริยธรรม ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเอง หรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองนั้น นายชูศักดิ์ ย้ำว่า เป็นการแก้ไขเพื่อให้เป็นธรรมมากขึ้น มีระเบียบปฏิบัติ มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ไม่ได้เป็นการยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เพียงแต่ขอให้ระบุพฤติกรรมที่ชัดเจน และมีกำหนดนับตั้งแต่เมื่อใด จะได้ไม่มีปัญหาในแง่ของการทำหน้าที่

"ที่ผ่านมา เรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องใช้เวลา ต้องถามกัน วุ่นวายไปหมด กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ย้ำว่าเราไม่ได้ไปยกเลิกเพิกถอนอะไร เพียงแต่ทำกฎหมายให้ชัดเจน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้เกิดมาตรฐาน ว่าจะชี้วัดอย่างไรเท่านั้นเอง" นายชูศักดิ์ ระบุ

พร้อมกล่าวว่า คงจะต้องมีการพูดคุยกับ สว. เพื่อขอเสียงสนับสนุน เนื่องจาก สว.เป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐสภาที่ต้องเห็นชอบด้วย

ส่วนรายงานศึกษาแนวทางการทำกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะเสนอเข้าสู่สภา จะเริ่มยกร่างได้เมื่อใดนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะมีความเห็นอย่างไร และจะส่งให้รัฐบาล หรือให้พรรคการเมืองทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายดังกล่าว

ส่วนประเด็นละเอียดอ่อน เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจเป็นเงื่อนไข และทำให้ที่ประชุมหาข้อสรุปไม่ได้นั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่าในรายงาน ไม่ได้ระบุว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่เป็นการนำเสนอทั้งหมดเพื่อให้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งแล้วแต่ดุลยพินิจ "รายงานมีหลายทางเลือกเพื่อนำไปพิจารณา แต่จะนำไปพิจารณาแบบไหน เป็นดุลยพินิจ ไม่สามารถบังคับได้ และไม่มีอะไรไปบังคับรัฐบาลได้ว่าจะต้องออกกฎหมาย เพราะเป็นคนละส่วนกัน รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอย่างไร เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล อาจจะยังไม่เสนอก็ได้" นายชูศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากภายหลงศึกษารายงานแล้ว รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จะถือว่าการจัดทำรายงานสูญเปล่าหรือไม่ นายชูศักดิ์ ยืนยันว่าไม่สูญเปล่า รัฐบาลอาจมีมติส่งให้พรรคการเมืองเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็ได้ สภาฯ ไม่มีอำนาจไปบังคับรัฐบาลได้ว่าต้องทำแบบใด ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังไม่ได้มีการหารือกันว่าจะเสนอร่างของพรรคเองหรือไม่ ต้องไปสอบถามกันว่ามีความเห็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ