เว็ปไซต์รัฐสภา ได้เผยแพร่รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ สส.พรรคประชาชน (ปชน.) เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา โดยเป็นการแก้ไขเนื้อหาสาระใน 4 ประเด็น คือ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ, บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม, การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง และกระบวนการร้องเรียนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใน 10 มาตรา ดังนี้
- แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป
- แก้ไขมาตรา 168 ว่าด้วยการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ โดยได้ตัดถ้อยคำที่โยงกับมาตรา 160 (4) และ (5) ออกไป
- แก้ไขมาตรา 186 ในหมวดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งกำหนดให้นำเงื่อนไขที่กำหนดให้ สส. และ สว. ปฏิบัติหน้าที่ มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี โดยได้ตัดถ้อยคำในวรรคท้ายที่ระบุโยงการกระทำที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมออกไป
- แก้ไขมาตรา 201 ว่าด้วยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ออกไป
- แก้ไขมาตรา 202 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรมอย่างร้ายแรงออกไป
- แก้ไขมาตรา 208 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ (5) ที่กำหนดให้พ้นตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก้ไขเป็น "ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"
- แก้ไขมาตรา 219 ว่าด้วยบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ ที่ครอบคลุมให้ใช้กับ สส., สว. และ ครม. ให้แก้ไขเป็น "ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรรมที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งและหัวหน้างานหน่วยธุรการขององค์กรตนเอง"
- แก้ไขมาตรา 234 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. โดยตัดถ้อยคำใน (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป และตัด (4) ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายออกไป
- แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยให้ตัด (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
นอกจากนั้นยังแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ที่ถูกพิพากษา จากเดิมที่กำหนดเวลา 10 ปี เป็น 5 ปี และตัดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออก ทำให้บทลงโทษดังกล่าวเหลือเพียงการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปีเท่านั้น และยังได้แก้บทลงโทษของผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดโทษ ตัดสิทธิลงเลือกตั้ง สส., สว., สมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แก้ไขระยะเวลาเป็นไม่เกิน 5 ปี
- แก้ไขมาตรา 236 ว่าด้วยการตรวจสอบ ป.ป.ช. ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิ สส., สว. หรือ ประชาชนไม่น้อย 2หมื่นคนเข้าชื่อ และยื่นต่อประธานรัฐสภา
ทั้งนี้ได้แก้ไขในส่วนของหน้าที่ของประธานรัฐสภา จากเดิมที่กำหนดให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ก่อนส่งไปยังประธานศาลฎีกา ให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ แต่การแก้ไขของพรรคประชาชน กำหนดเป็นบทบังคับให้ "ประธานรัฐสภาเมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฏีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ" โดยอัตโนมัติ
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคประชาชนคาดหวังมากที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าความล่าช้าจากกฎหมายประชามติ ความล่าช้าจากกระบวนที่ต้องมีคำถามครั้งที่ 1 - 3 อาจจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่แล้วเสร็จภายใน 3-4 ปี ฉะนั้นในระหว่างเส้นทาง หากเราเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีบางประเด็นที่เป็นปัญหา เราคงต้องมีการเสนอการแก้ไขรายมาตราไปด้วย ซึ่งเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายพรรคพร้อมรับฟัง และยื่นไปแล้วจำนวน 3 ร่าง อย่างไรก็ตาม จะมีการพูดคุยหรือดำเนินการต่อหรือไม่ คงต้องรอที่ประชุม สส.ในการพิจารณาร่วมกัน
"ยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราของเราทั้งหมดไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของพรรคประชาชน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนจริงๆ" นายณัฐวุฒิ กล่าว