นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ? ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในวันนี้ โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก ต่อให้ใช้วิธี DOUBLE MAJORITY หรือ "เสียงข้างมาก 2 ชั้น" ซึ่งอาจจะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อ ซึ่งมีสว. ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีใบสั่ง
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การบอกว่ามีใบสั่งนั้นพูดยาก เนื่องจากไม่มีหลักฐาน หากไปพูดจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นปัญหาอยู่สามารถคลี่คลายไปในจุดที่เป็นปัญหาได้อยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการจะแก้ไข DOUBLE MAJORITY เพื่อให้เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด เนื่องจากมีกฎกติกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นเรื่องอื่น ๆ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ ขอวิงวอนสว. อยากให้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ดีว่า เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการผลักดันเพื่ออำนวยประโยชน์ให้นักการเมืองทุกคน แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลอยากให้เกิดการประชามติที่มีโอกาสที่จะมาร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสามารถพิจารณาแก้ไขเพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศได้มากขึ้น
ส่วนการที่มีการกลับมติให้มาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นการพยายามยืดเยื้อรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่สามารถสรุปได้เช่นนั้น เนื่องจากคนที่มองเรื่องนี้สามารถรู้สึกได้หลาย ๆ แบบ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือบุคคลที่กลับมติ เป็นคนส่วนหนึ่งที่อยู่ในกมธ. เพียงไม่กี่คน ซึ่งตนไม่มั่นใจว่า สว. หลายคน จะรู้สึกเช่นนั้นด้วยหรือไม่ จึงขอฝากไปยังสว. ทุกคนว่า เรื่องนี้รัฐบาลมีเจตนาที่พยายามทำให้ปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ ได้หลุดพ้นจากกรอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ สว. ไม่จำเป็นต้องคุยกับแกนนำพรรคร่วม ซึ่งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีการพูดคุยกันอยู่เสมออยู่แล้ว
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูว่าท้ายที่สุดแล้วมติของวุฒิสภา จะเห็นตามกรรมาธิการของสภาอย่างไรหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากลับไป 2 ชั้นก็แสดงว่า ต่างไปจากสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งจะเข้าข้อบังคับที่ต้องมาพิจารณาทบทวนกันดู และท้ายที่สุดต้องมีกรรมาธิการร่วม และยอมรับว่าจะส่งผลให้กฏหมายประชามติล่าช้าออกไป และจะกระทบกับไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญในเดือนก.พ. 68
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าสุดท้ายเรื่องประชามติกลับไปเรื่อง 2 ชั้นก่อน การแก้รัฐธรรมนูญอาจทำไม่ได้ หมายความว่า สถานการณ์ขณะนี้เป็นแบบนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าต่อในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อจำเป็นต้องเดินหน้าต่อต้องหารือกันว่า สถานการณ์ขณะนี้มันควรจะเดินไปอย่างไร มีทางเลือกอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ มองว่าทางออกดีที่สุดคือ หารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล คุยให้ชัดเจนว่า การเดินต่อไปต้องเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอจาก สส.บางคนแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และหากผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งก็มีความเห็นในเชิงที่ว่า อาจทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็ได้ ไม่จำเป็นต้อง 3 ครั้งเหมือนเดิม
"ผมว่าทางออกขณะนี้ก็คือว่า อยากให้มีวงหัวหน้าพรรคลองคุยกัน ท้ายสุดรัฐธรรมนูญที่เราเป็นนโยบายรัฐบาลด้วย มันควรจะเดินไปอย่างไร"นายชูศักดิ์ กล่าว