กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดยนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ระบุว่า ในวันที่ 30 ต.ค.67 จะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะสามารถมาตอบกระทู้ถามได้ โดยที่ผ่านมา มีกระทู้ถามไปยัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึง 41 กระทู้ รับดำเนินการแล้ว 40 กระทู้ มีกระทู้ด้วยวาจา 4 กระทู้ เลื่อนตอบ 2 กระทู้ ตกไป 3 กระทู้ และกระทู้ที่เป็นหนังสืออีก 21 กระทู้ ตอบแล้ว 10 กระทู้ เลื่อนอีก 4 กระทู้ รอบรรจุเข้าวาระ 4 กระทู้
แต่ปรากฏว่านายกฯ ไม่เคยมาที่วุฒิสภา และมอบหมายให้รัฐมนตรีมาตอบ ซึ่งก็มาตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง จึงรู้สึกเสียดาย เพราะถือเป็นโอกาสให้นายกฯ อย่างน้อยก็มาสื่อสารกับวุฒิสภา และตอบข้อสงสัยที่ประชาชนอยากรู้
ด้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวว่า หลักการประชาธิปไตยของกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ที่ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งการดุลและคานอำนาจ ดังนั้นการที่ฝ่ายบริหารหลบเลี่ยงการตอบกระทู้ เป็นการปัดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นสิ่งสะท้อนของประชาชน
"กระทู้ต่าง ๆ ก็คือปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน เราอยากเห็นปฏิกิริยาของฝ่ายบริหารในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชน สิ่งเหล่านี้ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ ต้องมาตอบกระทู้ ไม่ใช่หลีกเลี่ยงหลบเลี่ยง จึงอยากฝากท่านฝ่ายบริหารทั้งหลาย ท่านคิดว่าการปฏิเสธไม่มาตอบกระทู้ เป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้ แต่ประชาชนดูอยู่ เขาจะบอกว่าฝ่ายบริหารไม่เห็นหัวประชาชน เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากฝากรัฐมนตรีถึงนายกฯ ท่านไม่มีสิทธิจะบอกว่าไม่ว่าง ถึงท่านจะติดภารกิจ แต่วาระของประชาชนสำคัญที่สุด ท่านต้องมาตอบ" สว. นันทนา ระบุ
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีคดีตากใบหมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. โดยเฉพาะการติดตามผู้ต้องหา 14 คนมาดำเนินคดี ว่า คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา ได้ประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจภูธรภาค 9 เข้าให้ข้อมูล ซึ่งพบว่าผู้ต้องหาทั้ง14 คน หลบหนีผ่านช่องทางปกติ และช่องทางธรรมชาติ
ดังนั้น แม้คดีนี้จะล่วงเลยไปแล้ว แต่อยากวิงวอนให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่นอกจากจะออกมาแสดงความเสียใจ และขอโทษแล้ว ยังต้องพิสูจน์ความเสียใจและขอโทษด้วยการลงมือ ส่วนประเด็นเรื่องอายุความนั้น มีข้อเสนอของนักสิทธิมนุษยชนขอร้องให้ประเทศอังกฤษดำเนินคดีกับผู้ที่หลบหนี เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่รับรองไว้
"หากรัฐบาลจริงใจในคดีตากใบ ต้องช่วยกันเร่งรัดดำเนินคดี อำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในคดีชายแดนใต้อื่น ๆ ด้วย เพราะความยุติธรรม เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทำความจริงให้ปรากฏ แล้วความยุติธรรมจะตามมา เมื่อความยุติธรรมตามมาปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ก็จะลดลง" สว.เทวฤทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง จนนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งกรณีตากใบและกรณีอื่น ๆ เช่น การวิสามัญที่เขาตะเว เมื่อปี 2562 รวมถึงคดีสลายการชุมนุมช่วงเม.ย.-พ.ค.53 ที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความปลอดภัยกับญาติผู้สูญเสียในคดีตากใบ โดยรัฐบาลต้องให้หลักประกันกับญาติที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพราะฝ่ายตรงข้ามในคดี เป็นผู้ที่ถืออาวุธ และเป็นฝ่ายความมั่นคง ดังนั้น รัฐบาลต้องหามาตรการที่ดูแลทั้งร่างกาย และจิตใจของญาติผู้สูญเสียด้วย
นายเทวฤทธิ์ กล่าวอีกว่า แม้คดีจะหมดอายุความไปแล้ว แต่สามารถทดเวลาได้ กล่าวคือ ร้องขอให้ประเทศต้นทางที่รู้ว่าผู้ต้องหาหลบหนีไปอย่างเป็นทางการช่วยดำเนินคดี เพื่อเป็นการแสดงความพยายามถึงที่สุด เพราะพรรคเพื่อไทย คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยอ้างเพียงแค่ว่า พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปแล้ว เพราะกรณีนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค แต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลด้วย
"นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ที่เซ็นอนุมัติให้ พล.อ.พิศาล ลาป่วยถึงวันที่ 30 ต.ค.67 จะบอกว่าใครยื่นใบลามา ก็เซ็นให้ทั้งหมด ไม่ได้ เพราะนายพิเชษฐ์ รู้ดีว่าคดีมีการฟ้องไปแล้ว คงต้องมีการตรวจสอบว่าการเซ็นอนุมัติของนายพิเชษฐ์ ใช้ดุลยพินิจถึงที่สุดหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการ และช่องทางธรรมชาติ ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาชี้แจงด้วย โดยเฉพาะนายภูมิธรรม ที่ดูแลความมั่นคง นายกฯ ที่ออกแสดงความเสียใจและขอโทษ เป็นการพิสูจน์ความความจริงใจในการแสดงคำขอโทษ และเสียใจ" นายเทวฤทธิ์ กล่าว