นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรคฯ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคฯ พร้อมด้วย สส.ของพรรคฯ ร่วมแถลงข่าวคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU44
โดยนายชัยมงคล กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ ได้ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคฯ ว่า พปชร.จะคัดค้าน MOU44 ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เสียดินแดน เสี่ยงเสียอธิปไตยของชาติ และเสี่ยงเสียทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของประชาชน พร้อมย้ำให้ พปชร.ดำเนินการให้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชน โดยไม่ยอมเสียพื้นที่ไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ซึ่ง สส.ของพรรคฯ จะร่วมกันลงชื่อทำจดหมายเปิดผนึกแล้วนำไปยื่นถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
"พรรคพลังประชารัฐ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการยกเลิก MOU44 และแก้ปัญหาเขตแดนทางทะเล โดยเห็นความสำคัญของข้อตกลงในเรื่องเขตแดนทางทะเล และอำนาจอธิปไตยยิ่งไปกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องรักษาทรัพยากรของชาติ ไว้ให้ลูกหลานสืบไป" นายชัยมงคล กล่าว
ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า ข้อความในเอกสาร MOU44 ประกอบแผนที่แนบท้าย แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วมเพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตกใช้เส้นเขตแดนในทะเล ที่ประกาศโดยกัมพูชาในปี 2515 โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด ซึ่งได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดต่อสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ดังนั้นจึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU44 ขัดต่อสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU44 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย
"ผมไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องหากรัฐบาลจะใช้ MOU44 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย" นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวว่า หากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่เพียงผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเลตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU44 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน
ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (MOU44) ได้แก่
1.ไทย-มาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว ยังเกิดพื้นที่พิพาท 7,250 ตร.กม. จนต้องใช้เวลา 7 ปี จึงตกลงกันได้ มาเลเซียเห็นว่ามีบ่อน้ำมันกลางพื้นที่ หากแบ่งเส้นกึ่งกลาง จะเกิดปัญหาจึงเสนอการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันในปี 2523
2.ไทย-เวียดนาม ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายสากลแล้ว มีพื้นที่ทับซ้อนกันกลางอ่าวไทยเนื้อที่ 6,000 ตร.กม.ได้ตกลงเมื่อ 9 ส.ค.40 กินเวลา 6 ปี เลือกวิธีแบ่งเขตทางทะเล เพราะมุ่งหมายแก้ปัญหาการทำประมงและโจรสลัด ไทยได้เนื้อที่ 67.75% ส่วนเวียดนามได้ 32.25% ผลสำเร็จเกิดขึ้นบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
3.ไทย-กัมพูชา มีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในปี 2513 โดยไทยยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ระหว่างเจรจา ฝ่ายกัมพูชาก็ประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 โดยมิได้เป็นไปตามกฎหมายสากล เพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทย จึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยฝั่งอ่าวไทย ปี 2516 ทำให้เห็นว่าเส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลง
แต่ช่วงเวลาเพียง 2 เดือนของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 รัฐบาลได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ โดยเริ่มเจรจาเมื่อวันที่ 21 เม.ย.44 และตกลงเซ็น MOU44 ในวันที่ 4 มิ.ย.44 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือ ไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตร.กม. ทั้งที่พื้นที่นี้ เดิมทีไม่มีกฎหมายรับรอง
"รัฐบาลอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน บดบังสาระสำคัญ ที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูก เพราะยึดมั่นในกฎหมายสากลกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรอง เข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซียอย่างชัดเจน
พรรคพลังประชารัฐ จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยกเลิก MOU44 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU44 เขตของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศส ที่เข้ายึดพื้นที่ของสยาม เพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง" ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว