นายกฯ ยัน "เกาะกูด" เป็นของไทย ไม่ยกเลิก MOU 44 เตรียมตั้งคกก.คุยกัมพูชา

ข่าวการเมือง Monday November 4, 2024 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือพรรคร่วมรัฐบาล กรณีบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (MOU 44) โดยยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย และเป็นมานานแล้ว ซึ่งไทยและกัมพูชาต่างรับรู้ และเป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า MOU 44 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเกาะกูด ซึ่งในการพูดคุยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดิน แต่มีการพูดคุยทางทะเลในสัดส่วนที่มีการขีดเส้น ซึ่ง MOU มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาใน MOU เป็นข้อตกลงจะมีการเจรจากันทั้งสองประเทศ

"นี่คือความหมายใน MOU 44 ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้น หรือต้องตกลงพูดคุยกันอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการ คณะทำงานมาพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการด้วย เนื่องจากคณะกรรมการต้องจบไปตามรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการนี้อยู่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ จะได้คณะกรรมการในเร็วๆ นี้ เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเสร็จสิ้น ก็จะมีการศึกษาและหารือกัน ว่าระหว่างประเทศจะดำเนินการข้อตกลงอย่างไร" น.ส.แพทองธาร ระบุ

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เกาะกูด ไม่เคยมีปัญหากับทางกัมพูชา และไม่เคยมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ อาจจะเกิดความเข้าใจผิดกันของคนในประเทศไทยเอง ซึ่งความจริงแล้วขอให้มั่นใจได้ว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ส่วน MOU 44 ยังคงอยู่ ไม่สามารถมีการยกเลิกได้ หากจะยกเลิกต้องใช้ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ หากไทยยกเลิกเอง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจถูกฟ้องได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ

"MOU นี้ไม่เกี่ยวข้องกันเกาะกูด และเกาะกูดก็ไม่ได้อยู่การเจรจา จึงขอให้คนไทยสบายใจได้ว่าจะไม่เสียเกาะกูดไป ซึ่งกัมพูชาไม่สนใจเกาะกูดของไทย เพราะไม่ได้อยู่ในการเจรจานี้ จึงขอให้ประชาชนอย่ากังวลเรื่องนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า การหารือในวันนี้ ยืนยันว่าได้รับฟังเสียงคัดค้าน จึงมีการพูดคุยและทุกคนตกลงในเนื้อหาเดียวกัน การออกมาชี้แจงวันนี้ เพื่ออธิบายให้ประชาชนทุกคนได้เข้าใจ MOU ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด และ MOU เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ และไทยยังไม่ได้เสียเปรียบในเรื่องของการตกลงเรื่องนี้ ดังนั้น อย่าเอาเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะสั่นคลอน

ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาล ต่างเห็นด้วยในการเดินหน้า MOU ต่อในเรื่องนี้ ขณะนี้กัมพูชารอฝ่ายไทยตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุย เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่บานปลายหากทุกคนเข้าใจในหลักการ เพราะคือข้อเท็จจริง และยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลังใด ๆ เพราะนี่คือกรอบที่เป็นไปตามกฎหมาย และย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเผือกร้อน

https://youtu.be/w2ngINLjLmc

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ