นายนิกร จำนง กรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่า ในการประชุมของ กมธ.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้จะมีการพิจารณาวาระรับฟังประเด็นการออกเสียงประชามติระบบใหม่ จากนั้นจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติต่อด้วยการฟังความเห็นจาก กมธ.ที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นเป็นรายบุคคล ซึ่งเหลืออีกไม่กี่คนแล้วจะถึงขั้นตอนการตัดสินใจของ กมธ. ซึ่งเชื่อว่าจะมีการลงมติว่าจะยืนตามร่างที่วุฒิสภาเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบประชามติสองชั้น หรือแก้ไขกลับไปเป็นแบบชั้นเดียวตามร่างเดิมของ สส.หรือจะมีการแก้ไขเป็นแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ แต่เชื่อว่าการพิจารณาน่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ จากนั้นจะใช้เวลาจัดทำรายงานเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของทั้งสองสภาต่อไป ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันตอนสภาเปิดการประชุมในกลางเดือน ธ.ค.นี้อย่างแน่นอน
นายนิกร กล่าวว่า ตนอยากให้มีการประนีประนอม จึงจะเสนออีกทางเลือกให้ กมธ.พิจารณา คือการทำประชามติชั้นครึ่งลดจากสองชั้นของ สว. และเพิ่มจากชั้นเดียวของ สส. เพื่อพบกันตรงกลางเป็นทางออก จะได้ไม่มีปัญหาขัดแย้งจนทั้งสองสภาต้องหักความเห็นที่ต่างฝ่ายมีเหตุผล แต่คนละมุมมองกัน ส่วนสาเหตุที่เสนอเพิ่มเป็นชั้นครึ่งเพราะมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากระบบการออกเสียงประชามติมีการปรับปรุงให้ประชาชนเข้าถึงง่ายแล้ว เพราะฉะนั้นเชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง
หากไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำในการออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงตัดสินเท่าไหร่ก็ได้ก็อาจถูกโต้แย้งได้ว่าไม่มีความชอบธรรม เพราะฉะนั้นตนจึงเสนอให้ยังคงชั้นบนไว้ คือต้องออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด แต่ตัดชั้นล่างที่กำหนดว่าต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมดออกจึงถือเป็นเหลือแค่ชั้นครึ่งก็เพียงพอ ซึ่งหลักการนี้เป็นร่างที่คณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เคยแนบเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตอนแรกเมื่อเดือน เม.ย.มาแล้ว
นายนิกร กล่าวว่า แม้ที่สุดแล้วหากมีปัญหาไม่ผ่านด้วยเหตุผลใดเป็นพิเศษก็สามารถทำซ้ำเพื่อแก้รัฐธรรมนูญได้อีกในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลย โดยใช้กลไกสภาตั้งคำถามประชามติใหม่ได้ และที่สำคัญระบบการออกเสียงประชามติใหม่นี้ เชื่อว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย