จากกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 6 ประเด็นด้วยกัน เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมานั้น
โดยก่อนหน้านี้ นายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เลิกการกระทำ แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้ส่งบันทึกสอบถ้อยคำ ทั้งพยานฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีความเห็นอีกว่า เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอต่ออัยการสูงสุดก่อนหน้านี้
สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่า แม้อัยการสูงสุดจะมีมติไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปได้