รุมถล่ม!! เงินหมื่นเฟส 2 หวังผลการเมือง สุ่มเสี่ยงผิดกม.

ข่าวการเมือง Thursday November 21, 2024 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "รู้ทันเงินหมื่น" โดยเตือนให้ระวังว่า จะมีผู้ร้องถอดถอนรัฐบาลทั้งชุด เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 9 วรรคสาม "คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ" โดยระบุว่า

รัฐบาลมีเงินงบประมาณเตรียมไว้ในปี 2568 ถึง 187,000 ล้านบาท แทนที่จะใช้ทั้งก้อน กลับใช้เพียง 40,000 ล้านบาท แจกให้แก่ผู้อายุเกิน 60 ปี 4 ล้านคน โดยให้เหตุผลว่า

เก็บเงินส่วนที่เหลือไว้โฆษณาอีกหลายรอบ เลี้ยงคะแนนนิยมไว้ มีเฟสสาม โดยรองวดต่อไป ดิจิทัลแน่ กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์

พยายามตีขลุมว่า 60 ปีขึ้นไป คล้ายกลุ่มเปราะบาง เพราะเกษียณแล้ว ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ มีปัญหาสุขภาพที่ต้องดูแล จึงมีเหตุผลที่แจกได้แบบเดียวกับกลุ่มเปราะบาง ไม่เสี่ยงถูกกล่าวหาว่า เป็นการใช้งบประมาณเพื่อหาเสียง

ที่แจกก่อนตรุษจีน ให้ดูเหมือนเป็นอั่งเปาให้จับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ จะแจกปีใหม่อาจเร็วไป ต้องเคลียร์เฟสแรกให้เสร็จก่อนปีใหม่

ช่วงตรุษจีน คือ 29-31 ม.ค. 67 การเลือก สมาชิกองค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้งประเทศ คือวันที่ 1 ก.พ. 67 โดยพรรคเพื่อไทยคงส่งผู้สมัครทั้งประเทศแน่นอน

ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ที่ไม่ได้แจกให้แก่กลุ่มเปราะบางอย่างแท้จริงเหมือนอย่างเฟส 1 เป็นการก่อหนี้สาธารณะที่ไม่คุ้มค่าและไม่จำเป็น และมีผลกระทบเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ

นอกจากนี้ มีผลเป็นการมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

"แจกเงินหมื่นรอบ 2 น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายประเด็น เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนแบบกลุ่มเปราะบาง ไม่เข้าเงื่อนไขวิกฤติเศรษฐกิจ เร่งด่วน น่าจะผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกฎหมายอื่นหลายประเด็น" นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ วงเงินรายได้ 840,000 บาท/ปีนั้น นำมาจากหลักเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นการอ้างข้ามสายพันธุ์ ทั้งที่การแจกเฟส 2 ไม่มีอะไรเป็นดิจิทัลเลย นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาแจกเป็นเงินสด ก็ควบคุมเงื่อนไขการใช้เงินไม่ได้เหมือนดิจิทัล จึงไม่มีเหตุผลที่จะแจกเงินนอกเหนือไปจากกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายกอบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งคำถามสำคัญต่อประสิทธิภาพของนโยบายนี้ โดยระบุว่า "การแจกเงินนี้ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ แต่เป็นเพียงแค่การลูบหน้าปะจมูกหรือทำแบบไฟไหม้ฟาง"เท่านั้น เพราะแม้การแจกเงินสดอาจสร้างความสุขชั่วคราวให้ประชาชนได้ แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถติดตามข้อมูลการใช้จ่ายได้เหมือนที่เคยวางแผนไว้ในรูปแบบ Digital Wallet ซึ่งได้ล้มเหลวไปแล้ว

"พายุหมุนทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามวาดภาพนั้น ได้เกิดขึ้นจริงหรือยัง หรือเป็นแค่โฆษณาเพื่อสร้างคะแนนนิยม เพราะจนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่าผลกระทบเชิงบวกที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจคืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้จำนวนมหาศาลที่กู้มาแจก" นายนิพนธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ยังชี้ให้เห็นว่า การแจกเงินในช่วงตรุษจีนแบบนี้ แทนที่จะเป็นนโยบายเพื่อช่วยผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นนโยบายที่มุ่งสร้างอานิสงส์ทางการเมือง เพราะอีกเพียงไม่กี่วันก็ถึงการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลหรือมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลย่อมได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน คู่แข่งกลับไม่มีทรัพยากรในระดับเดียวกันที่จะสร้างความได้เปรียบเช่นนี้

พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนจับตามองว่า รัฐบาลจะจัดการกับหนี้สินที่กู้มาผลาญอย่างไร และเตือนว่าอย่าหลงเชื่อกับ "ความสุขระยะสั้น ที่มาพร้อมกับต้นทุนมหาศาล"

"ประชาชนต้องได้คำตอบชัดเจนว่า เงินนี้แจกเพื่อใคร เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจริง ๆ หรือเพื่อคะแนนนิยมและความอยู่รอดทางการเมืองของรัฐบาลและพวกพ้อง" นายนิพนธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ