นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. และในฐานะผู้ประสานงานพันธมิตรฯกล่าวถึงกรณีโฆษกพรรคพลังประชาชนออกมาเตือนรัฐบาลว่าให้ระวังเรื่องการปฏิวัติซ้ำว่า กระแสการปฏิวัติที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากเรื่องการจาบจ้วงสถาบันเบื้องบน ความแตกแยก ทางการเมือง ในเรื่องการแก้ใขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สาเหตุสำคัญแต่สิ่งที่สำคัญคือข้อกังวลของประชาชนที่ไม่มั่นใจในรัฐบาลว่าเป็นรัฐบาลนอมินี รัฐมนตรีก็ไม่มีผลงาน
นอกจากนี้ความไม่ลงตัวในกองทัพ ซึ่งเป็นคนของกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มที่ยังคุมกองกำลังในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยังคุมเชิงกันอยู่ ตรงนี้ถือเป็นจุดเปราะบาง รวมทั้งขณะนี้ใกล้ถึงฤดูโยกย้ายข้าราชการในกองทัพที่เกรงว่าจะมีการล้วงลูกเหมือนเช่นในอดีต ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาใจใส่ และดำเนินการอย่างจริงจังในทุกเรื่อง อย่าคิดว่าการปฏิวัติทำไม่ได้ โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องไม่เพิกเฉย ไม่ตอกลิ่ม โดยการจัดตั้งมวลชน ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน
นายสุริยะใส กล่าวถึงการรื้อรัฐธรรมนูญว่า ครป.เห็นว่าการเปิดสภาวิสามัญฯ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ชอบและสะท้อนให้เห็นถึงความลุกลี้ลุกลนของรัฐบาลและ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่พยายามรวบรัดตัดตอนรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของสังคม และทำให้ปมความแตกแยกในสังคมยังดำรงอยู่ต่อไป
ประการสำคัญยังส่งผลให้ความเปราะบางและเสถียรภาพของรัฐบาลแย่ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้หลายฝ่ายลดความคาดหวังต่อรัฐบาลในการคลี่คลายปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง ที่ต้องอาศัยการเมืองที่นิ่งและมีเสถียรภาพรรวมทั้งความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนร่วมมือกันแก้ไข
" ครป.ขอประณามสภาผู้แทนฯ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ ผ่านมาแล้วกว่า 3 เดือนมีการปิดสมัยประชุม แต่สภายังไม่สามารถตั้งกรรมาธิการฯ ได้แต่อย่างใด ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัตินอกจากไม่สามารถสร้างช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนได้แล้ว ยังทำให้สภาฯ ไม่สามารถมีกลไกถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งความล่าช้าในการตั้งกรรมาธิการสามัญฯ นั้น ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่การจัดสรรโควต้าและผลประโยชน์ในพรรคพลังประชาชนไม่ลงตัว ในขณะที่วุฒิสภาซึ่งดำเนินการในภายหลังสามารถแต่งตั้งกรรมาธิการฯ ได้เรียบร้อยครบทุกคณะแล้ว"เลขาธิการ ครป. กล่าว
เลขาธิการ ครป. กล่าวต่อว่า ครป.ขอเรียกร้องให้รัฐสภาใส่ใจกับการตรากฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนี้สภาฯ ยังไม่สามารถตรากฎหมายเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แม้แต่ฉบับเดียว โดยเฉพาะกฏหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและต้องดำเนินการภายใน 1 ปี ตามมาตรา 303 เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพของสื่อมวลชน ความล่าช้าและความพยายามจะรื้อรัฐธรรมนูญอย่างเดียวนั้นได้ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก แม้ว่าหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ในช่วงการเปิดสภาสมัยวิสามัญ ครป.และพันธมิตรฯ ยังยืนยันจุดยืนเดิมคือการเข้าชื่อถอดถอนและการการชุมนุมใหญ่ แม้พรรคพลังประชาชนจะอำพรางด้วยการเสนอร่างที่รวบรวมโดยประชาชน 5 หมื่นรายชื่อก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายเดียวกันคือความพยายามฟอกผิดคนในรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--