สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ในส่วนของการรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยระบุว่า นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น เบื้องต้นได้รับคำวินิจฉัยจากประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นร่างการเงิน และได้เปิดรับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.67 - 1 ม.ค.68 ซึ่งจากการเปิดรับฟังความเห็นมาแล้ว 4 วัน พบว่า มีผู้ให้ความสนใจ 11,230 คน เห็นด้วย 88.89% และไม่เห็นด้วย 11.11%
สำหรับหลักการ และเหตุผล ของการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่ และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น เพราะมองว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 แม้จะมีการแต่งตั้งกรรมการที่มี รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการ แต่การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล มีการวางตัวบุคคลที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่ใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ
"คนที่ไม่ใช่พวกพ้อง เสียโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร และทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ขาดความโปร่งใส ดังนั้นจึงควรให้อำนาจ ครม. เป็นผู้พิจารณา อีกทั้งควรปรับองค์ประกอบของกรรมการให้เหมาะสม รวมถึงองค์ประกอบของสภากลาโหม ให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหม ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหม แทน รมว.กลาโหม และตัดกองทัพออกจากสภากลาโหมบางส่วน ให้เหลือเพียง 1-2 คนก็เพียงพอ"
ขณะที่ตัวร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข นั้น ยังได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายทหารชั้นนายพล มาตรา 25 ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอย่างน้อยด้วย คือ 1.ไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้อิทธิพล หรือพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
2.ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการกระทรวงกลาโหม
3.ไม่อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย หรือถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หมิ่นประมาท หรือลหุโทษ
นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมการจัดระเบียบปฏิบัติราชการทหาร ในมาตรา 35 ซึ่งเดิมกำหนดหน้าที่ทหารเพื่อปราบปรามจราจล พบว่า ร่างแก้ไขฯ ได้เพิ่มข้อห้ามใช้กำลังทหาร หรือข้าราชการทหาร ในกรณีของการยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฎ รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่าง ๆ ห้ามใช้เพื่อธุรกิจ หรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคคับบัญชา และ กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่น ๆ
ทั้งนี้ ได้กำหนดด้วยว่า ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหาร หรือกฎหมายอาญาทหาร
นอกจากนั้น ยังเพิ่มบทลงโทษนายทหารที่ฝ่าฝืน หรือพบการเตรียมการผิดมาตรา 35 ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราว ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด
โดยสาระสำคัญของมาตรา 35 ที่เสนอแก้ไขนั้น ย้ำความสำคัญ คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิด และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข