นายอัครเดชกล่าวว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เคยหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ สส.ของพรรค ได้มีความมติในเบื้องต้นว่าไม่เห็นด้วยในการรับร่างของ พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฯ ของพรรคก้าวไกล ในสมัยนั้น ซึ่งไม่เห็นด้วยในรายละเอียดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภากลาโหมที่มีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งหลักในกองทัพและประเด็นอื่นๆอีก ซึ่งในขณะนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติไม่เห็นด้วย กับเสนอร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่เคยยื่นเข้ามา
นายอัครเดช กล่าวว่า ดังนั้น ในกรณีการยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่?) พ.ศ? ของพรรคเพื่อไทย หากมีรายละเอียดที่มีความคล้ายคลึง กับ ร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่เคยยื่นมาแล้ว โดยให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขอยืนยันมติพรรคไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วยกับการทำให้กองทัพมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงโดยเฉพาะการให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกิจการของกระทรวงกลาโหม.
*เพื่อไทยรอมติสส.12 ธ.ค.หากผ่านนำเข้าสภา
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง จุดยืนพรรคเพื่อไทยในการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อ้างว่าผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วนั้นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายใดๆ พรรคมีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องกฎหมาย สส.มีอำนาจ ในการเสนอกฎหมายที่ตนเองสนใจและร่างขึ้นมา โดยเป็นการพิจารณาตามหลักการและเหตุผลเพื่อร่างเป็นกฎหมายแต่ร่างไหนจะนำเข้าสู่สภา จะต้องได้รับการรับรองจากที่ประชุมพรรค ซึ่งจะมีการประชุมพรรคในวันพฤหัสบดี ที่ 12 ธ.ค. จะเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ หากไม่ผ่านขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรค
ส่วน ส.ส. ภายในพรรค มองเรื่องนี้อย่างไร เพราะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เห็นด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่าตนเองไม่ขอก้าวร่วงกับความเห็นของพรรคภูมิใจไทย แต่สำหรับส.ส.พรรคเพื่อไทย หลายคนเพิ่งทราบว่าจะมีการเสนอ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้นจะต้องมีการถกเถียงพูดคุยกัน เพื่อให้ได้มติ ซึ่งมีส.ส.ที่ทั้งเห็นต่างและเห็นด้วย ซึ่งร่างฉบับนี้ ต่างกันกับร่างเดิมของนายสุทิน คลังแสง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่เคยเสนออย่างมีนัยยะสำคัญในหลายประเด็น ซึ่งจะต้องมีข้อถกเถียงกัน
ส่วนที่นายประยุทธ์ ออกมาระบุว่า ยอมให้มีการทบทวนแต่ไม่ยอมให้มีการถอนร่างนั้น นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณา ส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ เมื่อมติพรรคเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ก็จะเคารพในมติ เมื่อถามย้ำว่านายประยุทธ์ไม่ยอมให้ถอนร่างดังกล่าวร่างนั้นจะถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของนายประยุทธ์ หลายเหตุการณ์ก็มีความเห็นต่างกัน แต่เมื่อมติพรรคความเห็นส่วนใหญ่เป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การพูดคุยกันด้วยเหตุและผลน่าจะมีความชัดเจน และไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง
ขณะเดียวกันนางสาวลิณธิภรณ์ ยอมรับว่าเสียงส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว แต่ต้องรอตรวจสอบความเห็นของคนในพรรคก่อน เนื่องจากช่วงนี้ปิดสมัยประชุมสภาส.ส.ลงพื้นที่ จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนในวันประชุมพฤหัสบดีนี้
และเมื่อถามว่าขณะนี้รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่แล้ว แต่การนำร่างพ.ร.บ.นี้ขึ้นมาจะเป็นปัญหาในการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย นางสาว ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่กระทบเพราะพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นต่างกัน แต่ยังร่วมรัฐบาลกันได้ในการเดินหน้าผลักดัน แต่เรื่องเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า พร้อมกับระบุว่าหากเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเห็นด้วย ก็จะผลักดันเข้าสภา
*"ประยุทธิ์"ไม่ถอยแต่ยอมทบทวนหากมติพรรคไม่เห็นชอบ
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอร่าง พระราชบัญญัติจัดระเบียบกลาโหมว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 กำหนดว่าการจะเสนอร่างกฎหมาย เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากพรรคการเมืองก่อน แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมได้ หากมีเสียงสส.รับรองเกิน 20 คน ตามที่ระเบียบข้อบังคับกำหนด
"ซึ่งต้องยอมรับว่าร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรรค แต่เตรียมที่จะเสนอให้ที่ประชุมพรรคพิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ หากที่ประชุมไม่เห็นด้วย ตนก็ยินดีจะดึงกลับมาทบทวน แต่คงไม่ถึงขั้นยอมถอยไม่เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้"
ทั้งนี้นายประยุทธ์ ระบุว่า หลักการในการร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งตนเคยอยู่ตั้งแต่การรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกรัฐประหารและถูกขังลืม แม้จะไม่ได้ผูกใจเจ็บอาฆาตมาดร้าย แต่การเกิดรัฐประหารซ้ำไปมา ตนก็อยากให้ประเทศนี้ดำเนินไปตามระบอบประชาธิปไตยอำมีประมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการคานอำนาจกันระหว่าง บริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ
เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยยังกังวลว่าจะถูกรัฐประหาร นายประยุทธ์ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจในการปกครองแผ่นดิน หมายความว่า ทุกพรรคการเมืองถูกรัฐประหาร ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคเพื่อไทย และแม้ว่ากฎหมายของตนจะผ่านความเห็นชอบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่สามารถล้วงลูกเข้าไปจัดการกองทัพได้ เพราะหลักการแต่งตั้งข้าราชการชั้นนายพลยังคงการเสนอตามลำดับ เพียงแต่ต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบด้วย
" ซึ่งการที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้และไม่เชื่อว่าจะสามารถสกัดการเกิดรัฐประหารได้จริง ส่วนตัวก็พร้อมจะยอมรับ แต่ก็ถือเป็นสิทธิของตนที่จะใช้อำนาจหน้าที่ในการเสนอกฎหมาย ส่วนเมื่อเสนอไปแล้วใครจะเห็นโดยไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ยินดีรับฟัง"
เมื่อถามว่าหลังจากเรื่องนี้กลายเป็นกระแสหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ต่อสายมาพูดคุยบ้างแล้วหรือไม่ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีและขณะนี้เองผู้ใหญ่ของพรรคก็ยังไม่มีใครติดต่อมา
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันได้ใช่หรือไม่ว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องประโยชน์ของพรรคเพื่อไทยในการเป็นแกนนำรัฐบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตใช่หรือไม่ นายประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่ใช่และเป็นการตีความที่ไกลสุดโต่งเกินไป เพราะตนไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องกังวลในเรื่องนั้น