การรับประทานอาหารค่ำร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ที่ "ร้านเอิกเกริก" ซึ่งเป็นร้านอาหารริมน้ำ ย่านจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามรัฐสภา เริ่มขึ้นประมาณ 20.50 น ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่ได้นัดหมาย 18.00 น. เนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีความยืดเยื้อจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ในวงรับประทานอาหารเย็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มีการพูดคุยถึงการจัดสรรเวลาในการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ และจะมีการหารือเรื่องการทำงานร่วมกันของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงการสานต่อ "เวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน" ที่ก่อนหน้านี้นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้วางแนวทางไว้
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประชาชนไม่ผิดหวังแน่นอน อยากให้ประชาชนติดตาม ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี 68
สำหรับการอภิปรายรอบนี้ จะมีเรื่องของวุฒิภาวะความเป็นผู้นำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นหนึ่งประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลก็ยังไม่ตอบโจทย์ และมีข้อสงสัย
"นายกฯ ต้องพิสูจน์ให้เห็น ว่านายกรัฐมนตรีตัวจริง คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่ใช่คนอื่น และการลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ก็เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรจะทำ บางภารกิจสามารถมอบหมายคนอื่นไปได้ ทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการ และอีกอย่างที่เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี คือการมีความรับผิดชอบต่อสภา โดยการเข้ามาตอบกระทู้ถามสดในสภา เป็นเรื่องจำเป็น และตารางการประชุมของสภา ก็ถูกล็อกไว้แล้วว่าทุกวันพฤหัสจะต้องมีการตอบกระทู้ จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องมาตอบ นายกรัฐมนตรีสามารถล็อคเวลาล่วงหน้าได้" นายณัฐพงษ์ ระบุ
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จะพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณ ชินวัตร ด้วยหรือไม่นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า คงเป็นหลายๆ เรื่อง ที่เราทำข้อมูลมาหลายทาง และขอฝากไปถึงประชาชนและข้าราชการ หากพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือการดำเนินนโยบายของรัฐที่ไม่ถูกต้อง สามารถส่งข้อมูลมายังพรรคประชาชนได้
ส่วนกรณีพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่มี สส.บางคน แสดงจุดยืนทางการเมืองไปอยู่กับพรรครัฐบาลแล้วนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค แต่จะเห็นได้ว่าการร่วมรับประทานอาหารเย็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านในครั้งนี้ มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมพูดคุยกัน ส่วนกระบวนการภายในของแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไรนั้น พรรคประชาชนไม่สามารถไปก้าวก่ายได้
ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้เดินทางมาร่วมวงรับประทานอาหารด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องภายในของพรรค และเชื่อว่าตัวแทนที่ส่งมา จะสามารถประสานงานไปยังพรรคได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะ สส. ก็ถือเป็นผู้แทนราษฎร