นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึง "ความร่วมรับผิดชอบ" ของหน่วยงานที่กำกับดูแล ต่อกรณีที่ประชาชนถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน จนสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเห็นว่า "ความรับผิดชอบร่วม" จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ ที่ทำให้ทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเครือข่ายมือถือ ยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองเจ้าของบัญชีเงินฝาก และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มักให้เหตุผลอยู่เสมอว่า ปัจจุบัน ระบบชำระเงิน หรือระบบโอนเงิน ของประเทศไทยนั้น มีความสะดวกรวดเร็วอย่างมาก แต่ตนได้ย้ำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ทราบอยู่เสมอว่าความสะดวกรวดเร็ว (Convenience) ต้องมาควบคู่กันกับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย (Security) ไม่ใช่เอาสะดวกรวดเร็ว แต่ผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดในการเผชิญหน้ากับโจรออนไลน์ ให้กับประชาชน ปล่อยให้ประชาชน ต้องตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
"ผมยืนยันว่า คุณเศรษฐพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. มีหน้าที่ในการออกระเบียบ เพื่อกำหนดให้ทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเครือข่ายมือถือ มีความรับผิดชอบร่วม ในกรณีที่ประชาชนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก"
โดยนายวิโรจน์ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ 6 ประเด็น
1. ทำไมประเทศไทยถึงไม่ใช้ระบบการยืนยันตัวตนหลายชั้น เพื่อป้องกันการทำ Screen Overlay ของมิจฉาชีพ
2. ทำไมยอดเงินโอนสูงๆ จึงไม่มีมาตรการหน่วงเงินสักระยะหนึ่ง ให้ผู้โอนสามารถระงับได้
3. ทำไมถึงปล่อยให้เบอร์โจร โทรศัพท์และส่งข้อความหลอกลวงประชาชนได้อยู่ทุกวัน ทั้ง ๆ ที่มีการแจ้งความไปแล้ว
4. ทำไมการเปิดบัญชีออนไลน์ ถึงไม่มีระบบการยืนยันตัวตนที่รัดกุมกว่านี้
5. ทำไม "บัญชีม้าน้ำตาล" หรือบัญชีที่มีการโอนเงินที่เข้าข่ายผิดปกติ จึงไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนระหว่างธนาคารพาณิชย์
6. ทำไม ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงปล่อยให้ CEO ของบริษัท National ITMX ซึ่งเป็นบริษัทที่นายทุนธนาคารลงขันกันจัดตั้งขึ้น มาเป็นบอร์ดของคณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าปล่อยให้มี Conflict of Interest เกิดขึ้นอย่างนี้ กรช. จะกล้าออกระเบียบในการกำกับดูแลระบบชำระเงินของธนาคารพาณิชย์อย่างเข้มงวดได้อย่างไร"
"คุณเศรษฐพุฒิ (ผู้ว่าฯ ธปท.) และ นพ.สรณ (ประธาน กสทช.) ก็ทราบดีว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ เป็นอาชญากรข้ามชาติ ที่สร้างความเสียหายหลอกเงินประชาชนคนไทยกว่าปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และเงินสีเทา สีดำ เหล่านี้ จะถูกแปลงเป็นสกุลเงินดิจิตอล และวนกลับมา ทุ่มตลาด และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจไทยพินาศย่อยยับในที่สุด รู้อย่างนี้แล้วทั้ง ธปท. และ กสทช. จะไม่คิดทำอะไรที่ดีกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันจริงๆ หรือ" นายวิโรจน์ ระบุ