PoliticalView: ผลเลือกตั้ง อบจ. แค่ก้าวแรก สะท้อนสนามเลือกตั้งใหญ่??

ข่าวการเมือง Friday February 7, 2025 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผ่านไปแล้ว สำหรับสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคเพื่อไทย สามารถชิงเก้าอี้ได้ 10 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 9 ที่นั่ง และพรรคประชาชน 1 ที่นั่ง

2 นักวิชาการการเมือง สะท้อนผลเลือกตั้ง อบจ. รอบนี้ รูปแบบไม่ต่างจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 แม้จะเป็นคนละสนามก็ตาม แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมา แต่ละพรรคการเมืองคงต้องนำไปถอดเป็นบทเรียน เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าชัดเจน ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นมีคนออกมาใช้สิทธิ์เพียง 55% แต่การเลืองตั้งสนามใหญ่มีคนออกมาใช้สิทธิ์ 75% ซึ่งจำนวนคนออกมาใช้สิทธิ์ลดลงไป 20% และใน 20% นี้แนวโน้มส่วนใหญ่คือ คนที่เคยเลือกพรรคก้าวไกลเมื่อปี 66 ซึ่งอาจมีถึง 13-14%

"ถ้าตัวเลข 13-14% นี้แปรผันง่าย ๆ เอามาบวกเพิ่มกับการเลือกตั้งรอบนี้ แปลว่า จริง ๆ หลายพื้นที่คะแนนของเขาอาจไม่ตก ถ้าคะแนนอบจ.รอบนี้บวก 13-14% เข้าไปมันก็เท่า ๆ เดิม เขาก็ไม่ได้เพลี่ยงพล้ำไปเยอะ แปลว่า กระแสยังอยู่เขา เพียงแต่เขาไม่สามารถบิ้วให้คนออกมาเลือกตั้งให้ได้เยอะ ๆ เท่ากับการเลือกตั้งระดับชาติ" นายสติธร กล่าว

นายสติธร มองว่า ในส่วนพรรคประชาชน ประชาชนอาจเห็นว่า ตัวเลือกของผู้สมัครพรรคประชาชนยังที่ไม่จูงใจพอที่จะอยากจะออกมาใช้สิทธิ์ รวมถึงการเลือกตั้งปี 66 มีกระแส "มีลุง ไม่มีเรา" ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก แตกต่างกับการเลือกนายก อบจ.ที่ไม่มีกระแสเหล่านี้เข้ามาช่วย

ขณะที่การหาเสียงของพรรคพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ยังเป็นรูปแบบเดิม โดยอิงกับฐานเสียง "เครือข่ายบ้านใหญ่" เห็นได้ชัดว่า คนที่เลือกตามเครือข่ายของบ้านใหญ่ ก็ไปกับพรรคใหญ่ที่ดึงบ้านใหญ่ไปเป็นพรรคพวก ซึ่งหากพรรคใดดึงบ้านใหญ่ไปอยู่ด้วยได้ พรรคนั้นก็ได้เปรียบ

สำหรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็นผลลัพธ์ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทย ที่ประสบความสำเร็จ เพราะแม้นายทักษิณ อาจจะพ่ายแพ้ในบางจังหวัดที่ไปตระเวนหาเสียงให้กับผู้สมัคร แต่เป็นการแพ้ในฐานะของ "ผู้ท้าชิง" เช่น จ.เชียงราย หรือ ศรีษะเกษ เป็นการพ่ายแพ้ให้กับนายก อบจ.คนเก่าที่ครองตำแหน่งไว้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ถือว่าน่าเกลียดอะไร

ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ. จะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ปี 70 อย่างไรนั้น นายสติธร มองว่า ถ้ายังไม่มีตัวแปรใหม่แทรกเข้ามา ( เช่น ความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อพรรคประชาชน หรือ กระแสศรัทธาของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจที่เพิ่มมากขึ้น) ก็พอคำนวณที่นั่งสส.ปี 70 ได้เลย ด้วยการเอาคะแนนอบจ.เป็นฐาน แล้วไปคิดต่อว่า คะแนนที่หายไปเป็นของพรรคใดมากกว่ากันในแต่ละพื้นที่

นายสติธร มองว่า การเลือกตั้ง ปี 70 พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน สส.มากขึ้น แต่ไม่ถึงเป้า 200 ที่นั่งตามที่นายทักษิณ ตั้งเอาไว้ แต่ยังพอมีโอกาสแซงชนะพรรคประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมองว่า พรรคประชาชนคงพีคได้สูงสุดประมาณนี้แล้ว ยังไม่เห็นจุดที่จะทำให้พรรคประชาชนพีคไปกว่าปี 66 ได้อย่างไร และคงไม่ได้สส.เกิน 200 เช่นเดียวกัน

ส่วนพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่า 70 ที่นั่งเดิมคงได้แน่ ๆ และมีโอกาสบวกเพิ่ม เพราะพื้นที่ภาคใต้ จะถูกภูมิใจไทยกลืนมากขึ้น ด้วยความอ่อนแอของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เมื่อไม่มี "ลุงตู่" ก็ดูแผ่วลงแล้ว และเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทย มีโอกาสแตะถึง 100 ที่นั่งได้

"คะแนนที่กางอยู่วันนี้ มันคือคะแนนพื้นฐานของคนแล้ว ใครชอบแดง ใครชอบน้ำเงิน ใครชอบส้ม มันชัดแล้ว ที่เหลือคำนวณต่อว่า 20% ที่หายไป กับ 7% ที่โหวตโนอยู่ที่ไหน แล้วคิดยุทธศาสตร์ต่อว่า 2 ปีจากนี้ เราจะไปชิงคะแนนคู่แข่งได้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลย และคะแนนกลับไปบวกให้กับคู่แข่งอย่างเดียว ก็อาจจะแพ้ได้"นายสติธร กล่าว

ในการเลือกตั้งใหญ่ในปี 70 นายทักษิณ หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังคงต้องมีบทบาทไปต่อ เพียงแต่ทั้งคู่ ไม่มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งใหญ่ ดังนั้นแค่ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคไม่เพียงพอ ปัจจัยชี้ขาดที่ต้องโฟกัส คือชื่อของแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค ที่ต้องคัดสรรเป็นอย่างดี เพราะในการเลือกตั้งใหญ่ ประชาชนต้องพิจารณาว่า "แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี" เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคงไม่ใช่จะโฟกัสแค่ใครเป็นคนแบ็คอัพนายกฯ อย่างเดียว

"ถ้าเกิดว่า พรรคเพื่อไทย ที่ได้นายก อบจ.มาเยอะหลายจังหวัด เป็นเพราะคุณอุ๊งอิ๊งค์ อย่างนี้เพื่อไทยสมัยหน้าสบายแน่ แต่มันไม่ใช่ มันเป็นเพราะคุณทักษิณ แต่คนที่จะลงแคนดิเดทนายกฯ ครั้งหน้า คือ คุณอุ๊งอิ๊งค์" นายสติธร กล่าว

ด้านนายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ผลการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ออกมาเหมือนการเลือกตั้ง สว.ที่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างเสื้อแดง (พรรคเพื่อไทย) กับเสื้อส้ม (พรรคประชาชน) เท่านั้น เพราะผลออกมามีผู้ชนะที่เป็นเสื้อน้ำเงิน (พรรคภูมิใจไทย) โดยต่างทุ่มสรรพกำลังแข่งขันกันอย่างเต็มที่

โดยพรรคเพื่อไทย หวังที่จะปลุกฐานเสียงที่มีต่อนายทักษิณ ให้กลับคืนมาเพื่อชนะการเลือกตั้งเหมือนในอดีต แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยบางคน ก็ชนะเลือกตั้งมาด้วยตัวเอง ไม่ได้อาศัยบารมีจากนายทักษิณ และถึงแม้จะมีความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็หวังเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคประชาชน ก็หวังจะชี้ชะตาทางการเมืองว่าจะอยู่ได้ต่อไปอีกหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นจาการเลือกตั้งครั้งนี้คือ บทบาททางการเมืองของกลุ่มบ้านใหญ่ที่ยังคงมีอยู่ ไม่ได้ล่มสลายไป ทำให้พรรคการเมืองพยายามที่จะดึงเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย

อย่างไรก็ตาม ผลเลือกตั้งที่ออกมาแต่ละพรรคการเมืองคงต้องนำไปถอดเป็นบทเรียน เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรต้องหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันปัญหาการซื้อเสียง ปัญหาบัตรเสีย ปัญหาโหวตโน เพราะการรณรงค์ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้นไม่เกิดประโยชน์ ประชาชนยังมีความสับสน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ