พปชร.ค้านกม.ศูนย์กลางการเงิน จี้ทบทวน เหตุซ้ำซ้อน-หวังรวบอำนาจ ธปท.

ข่าวการเมือง Monday February 17, 2025 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการวิชาการ ร่วมกันแถลงคัดค้านกรณีรัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน

นายอุตตม ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินนั้นได้ดำเนินการอย่างครบถ้วน รอบคอบ และเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะการหารือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ ธปท.เพิ่งมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีแสดงข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เนื่องจากกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับระบบการเงินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ อาทิ การให้คณะกรรมการฯ ตามกฎหมายนี้มีอำนาจกำหนดประเภทธุรกิจ และเกี่ยวเนื่องไปถึงการให้ใบอนุญาต การกำกับดูแลในรูปแบบที่ค่อนข้างเหมารวม ซึ่งในทางปฏิบัติจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่และกระบวนการของหน่วยงานกำกับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงต้องระมัดระวังไม่ให้เปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง

"ผมสนับสนุนให้มีกลไกรองรับการประชุมหารือร่วมกันเป็นประจำระหว่างกระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับด้านการเงินต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด และการวิเคราะห์ ทั้งในภาวะปกติ และเมื่อมีสัญญาณของการเกิดวิกฤต เพื่อให้สามารถสร้างความพร้อมในการรับมือวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ รวมถึงการระดมความคิดในการพัฒนาระบบการเงิน ตลาดทุนและที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและเหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยรวมกลไกหารือเช่นนี้สามารถจัดตั้งได้ทันทีโดยอาศัยคำสั่งนายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาและความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว" นายอุตตม กล่าว

ประธานกรรมการนโยบายพรรคฯ กล่าวว่า กฎหมายเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเงินได้ เพราะนักลงทุนจะเลือกประเทศที่มีความพร้อมที่สุด เช่น สิงคโปร์ประสบความสำเร็จด้วย (1) นโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อธุรกิจ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหมาะสม พร้อมสิทธิประโยชน์ดึงดูดฟินเทคและกองทุนบริหารสินทรัพย์ กฎระเบียบโปร่งใสภายใต้การกำกับของธนาคารกลางสิงคโปร์ (2) โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแข็งแกร่ง เช่น ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเงินตรา ระบบดิจิทัลที่รองรับธุรกรรมทางการเงิน และเครือข่ายธนาคารระดับโลก (3) แรงงานคุณภาพสูงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ และโครงการพัฒนาทักษะด้านการเงินและ ฟินเทค

"หากไทยต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกต้องสร้างความพร้อมในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ออกกฎหมาย แต่รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นรากฐานของความเชื่อมั่น หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านกฎระเบียบ เทคโนโลยี และบุคลากร หากไม่เร่งปฏิรูปไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกของนักลงทุนในเวทีการเงินโลก" นายอุตตม กล่าว

ด้านนายธีระชัย ตั้งข้อสงสัยว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายแฝงเพื่อปลดล็อคสองปัญหาเรื่องเงินดิจิทัลใช่หรือไม่ ปัญหาที่หนึ่ง ปัจจุบันการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายเงินตราต้องผ่าน ธปท.ซึ่งอาจจะไม่เห็นด้วย ร่างมาตรา 10 ปลดอำนาจ ธปท.ไปให้คณะกรรมการพิจารณาแทน ปัญหาที่สอง ปัจจุบันการพิจารณาอนุญาตเชื่อมเงินดิจิทัลกับระบบบาทเนต (Bahtnet) ซึ่ง ธปท.อาจจะไม่เห็นด้วย ร่างมาตรา 36 ได้ปลดอำนาจในกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินทิ้งไปเลย

เป้าหมายแท้จริงอาจไม่ใช่ตลาดนอกประเทศ (offshore) แต่อาจเพื่อออกเงินดิจิทัลสำหรับตลาดในประเทศ (onshore) ด้วยข้อพิรุธ 2 ข้อ ข้อที่หนึ่งถึงแม้มติคณะรัฐมนตรีระบุว่า "ให้บริการเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (non-residents) เท่านั้น" แต่ในมาตรา 53 (2) มีการสอดใส้ให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (residents) เอาไว้ด้วย ข้อที่สองหนังสือของกระทรวงการคลังเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี ระบุว่า "ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย" หมายถึงผู้ที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (non-residents) แต่ในร่าง พ.ร.บ.ได้ตัดเงื่อนไขนี้ออกไป จึงส่อพิรุธว่า เป้าหมายที่แท้จริงอาจเพื่อการออกเงินดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นเงินตราสำหรับใช้ในประเทศ

"ผมเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวน เพราะการตรากฎหมายที่ไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้จริง แต่กลับมีผลแฝงเป็นการรวบอำนาจนโยบายการเงินไปจาก ธปท.จะสร้างความหายนะให้แก่ประเทศ และจะกระทบความน่าเชื่อถือในระดับสากล" นายธีระชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ