ศาลฎีกานัดประชุมใหญ่ 30 พ.ค.พิจารณารับ-ไม่รับคำร้องขอให้ไต่สวนมท.1

ข่าวการเมือง Wednesday May 21, 2008 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ประธานศาลฎีกานัดประชุมใหญ่ 30 พ.ค.นี้เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องให้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระตรวจสอบพฤติกรรมรมว.มหาดไทย ตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ยื่นไว้หรือไม่
"ขณะนี้นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา กำหนดวันประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของนายสุเทพไว้เพื่อแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น." นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์ เลขานุการศาลฎีกา กล่าว
ทั้งนี้ นายสุเทพได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 276 เพื่อตรวจสอบพฤติกรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 275 ที่ลุแก่อำนาจสั่งการให้รักษาการอธิบดีกรมที่ดินตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด จนกระทั่งมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินจำนวน 59 แปลง 1,338 ไร่ บริเวณ ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา
เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งได้เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณา แต่ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการพิจารณาก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาคำร้องดังกล่าว เพราะเป็นช่องทางตามกฎหมายที่บัญญัติไว้อยู่แล้ว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 276 บัญญัติว่า ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นควรดำเนินการตามคำร้องที่ยื่นตามมาตรา 275 วรรค 4 ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ หรือจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามาตรา 250(2) แทนการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระก็ได้
คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วิธีการไต่สวน และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นของผู้ไต่สวนอิสระให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ไต่สวนอิสระได้ดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนทำความเห็นแล้ว ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และส่งสำนวนและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป และให้นำบทบัญญัติมาตรา 272 วรรค 5 มาใช้โดยอนุโลม
หากมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว มาตรา 277 บัญญัติด้วยว่า ในการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้ยึดสำนวน ป.ป.ช. หรือผู้ไต่สวนอิสระแล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยบทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของ ส.ส. และ ส.ว.ตามมาตรา 131 ไม่ให้นำมาบังคับใช้กับการพิจารณาคดีของศาลฎีกา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ