"สส.วิโรจน์" บุกกรมสรรพากร จี้วินิจฉัยการใช้ตั๋ว P/N ตั้งข้อสังเกตนายกฯ ซื้อขายทิพย์

ข่าวการเมือง Friday March 28, 2025 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงกรมสรรพากร เพื่อขอให้วินิจฉัยการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว P/N) ในการซื้อหุ้นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และตรวจสอบว่าพฤติการณ์ใดเข้าข่ายเป็นการทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย โดยมี น.ส.นลพรรณ ธงมรกต เลขานุการกรมสรรพากร ทำหน้าที่รับหนังสือแทนอธิบดีกรมสรรพากร

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า การกระทำในลักษณะนี้ เข้าข่ายเป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เจตนาที่แท้จริง คือ การรับให้หุ้นของบุคคลในครอบครัว แต่ใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินหรือใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อทำนิติกรรมอำพราง เปลี่ยนเจตนาที่แท้จริงคือการรับให้ เป็นการซื้อขายเพียงแค่รูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ 5% ใช่หรือไม่

"ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะ น.ส.แพทองธาร ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้นำประเทศ ที่ถืออำนาจรัฐ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นประมุขฝ่ายบริหาร และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังโดยตำแหน่งด้วย ซึ่งถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะ ในเรื่องของวินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน" สส.วิโรจน์ ระบุ

ส่วนที่นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงแล้วว่าสามารถทำได้นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นการชี้แจงในลักษณะที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่า นี่คือการทำธุรกรรมซื้อขายกันจริง ๆ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยเลยว่านี่เป็นนิติกรรมอำพราง สังเกตหรือไม่ว่านายปิ่นสาย ชี้แจงในลักษณะที่ว่า ถ้าหากมีการชำระเงินตามตั๋ว P/N ผู้ขาย ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัว หากมีกำไรจากการขายหุ้น ก็ต้องไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90-91

อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของสาธารณะ แต่ประเด็นคือ เรื่องนี้ไม่ใช่การซื้อขายกันจริง ๆ ใช่หรือไม่ เป็นเพียงการทำธุรกรรมซื้อขายทิพย์ หรือซื้อขายปลอม เป็นการซื้อขายเพียงแค่รูปแบบเพื่อบดบังเจตนาที่แท้จริง นี่คือการรับให้หุ้นจากครอบครัว หรือได้หุ้นมาจากการให้ของพี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ และแม่ ถ้าหากเป็นการรับให้ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ 5% แต่หากเป้นพี่น้อง ลุง ป้า ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ 5%

๐การวินิจฉัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นทางการ จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะประชาชนสงสัยว่า หากทำตามนายกรัฐมนตรี เช่น เจ้าของกิจการที่กำลังจะโอนหุ้นให้กับลูก มูลค่า 20 ล้านบาท เปลี่ยนใจไม่โอนหุ้นให้ลูกแล้ว แต่ให้ลูกออกตั๋ว P/N หรือการทำสัญญาเงินกู้อื่นใด แลกกับการที่ไม่มีกำหนดชำระ และไม่มีอัตราดอกเบี้ย ในลักษณะนี้จะทำได้หรือไม่ กรมสรรพากรจะไม่เลือกปฏิบัติใช่หรือไม่ จะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่สรรพากรไปเรียกเก็บภาษีรับให้กับประชาชนรายนั้นใช่หรือไม่" นายวิโรจน์ ระบุ

ส่วนการประเมินรายได้ของบุคคล กรมสรรพากร ไม่ได้มีการเผยแพร่เป็นรายบุคคลอยู่แล้วนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องชี้แจงต่อสาธารณะ เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ถ้ากรณีนี้ น.ส.แพทองธาร ทำได้ ประชาชนทั่วไปก็ต้องทำได้ ไม่ได้หมายถึงเรื่องการโอนหุ้นอย่างเดียว แต่ยังรวมสินทรัพย์สินอื่นใดที่มีการจดทะเบียนด้วย เช่น ที่ดิน

สำหรับวิธีที่จะพิสูจน์ว่าไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง ๆ นั้น นายวิโรจน์ ระบุว่า ต้องดูพฤติการณ์ ดูเจตนา ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร สามารถที่จะตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนในกรณีนี้ได้ ดังนั้น วันนี้ตนจึงมาทำหนังสือเพื่อขอให้อธิบดีกรมสรรพากร ดำเนินการตามมาตรา 13 สัตต (3) ของประมวลรัษฎากร ขอความเห็นไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร วินิจฉัยกรณีของ น.ส.แพทองธาร ออกมาอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะได้เป็นแนวปฏิบัติของประชาชนทั่วไปต่อไป

"เรื่องนี้สำคัญมาก ตอนนี้ทุกคนรู้ว่ากรมสรรพากร และหน่วยงานจัดเก็บภาษี จัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน มีการเร่งรัดการเก็บภาษีอย่างรัดกุมมาก ๆ พ่อค้าแม่ขายที่ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ก็มีเจ้าหน้าที่สรรพากรนับจานนับชาม เพื่อขอภาษีเพิ่มเติม อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูปเบอร์ ที่มีรายได้จากการรีวิวสินค้า ก็ถูกเร่งรัดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือในกรณีของพ่อค้าแม่ขายทั่วไปที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ถ้ารายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ก็จะต้องถูกกรมสรรพากรเร่งรัดให้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม" นายวิโรจน์ กล่าว

ส่วนจะต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของอธิบดีสรรพากรด้วยหรือไม่นั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า การให้ความเห็นของอธิบดี เบื้องต้นอาจจะมีการปักใจเชื่อโดยส่วนตัว ตนก็มาชวนให้ฉุกคิด และตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหาก น.ส.แพทองธาร ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย ประชาชนก็จะทำบ้าง ซึ่งการมีช่องว่างทางกฎหมาย มีหลักคิด 2 เรื่อง คือ

1. คนที่ทำ ถ้าทำถูกกฎหมายต้องพร้อมเปิดเผย เพราะมั่นใจว่าสุจริต ถูกกฎหมาย และเป็นธรรม ส่วนคนที่ไม่กล้าแสดงตัว มีพฤติกรรมหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะต้องระแวง เพราะไม่รู้ว่าผิด หรือไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าผิดกฎหมายก็สู้ได้ เพราะตีความตามตัวอักษร

2. อะไรที่เป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ยิ่งทำมากยิ่งดี เช่น การซื้อประกันที่มีการบอกต่อ ๆ กัน

"ตั้งคำถามกลับว่า ถ้าเราคิดว่ากรณีของคุณแพทองธาร ทำได้ถูกต้องแล้ว ทุกคนทั้งประเทศที่มีความมั่งมี ทำแบบคุณแพทองธารทั้งหมด สาธารณะได้ประโยชน์อะไร สังคมได้ประโยชน์อะไร รัฐได้ประโยชน์อะไร สุดท้ายมันจะเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน" นายวิโรจน์ กล่าว

ส่วนการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2,900 ล้านบาทนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน การยื่น ป.ป.ช. ไม่ได้หมายความว่าการชำระภาษีถูกต้องครบถ้วน วันนี้ตนทำใจเป็นกลาง ต้องการฟังคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เพราะความเป็นธรรมถ้านายกรัฐมนตรี ที่เป็นประชาชนคนหนึ่งทำได้ แต่มีความเสียหายในการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน นั่นหมายความว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ภาษีการรับให้ จะไม่สามารถจัดเก็บได้เลย

นายวิโรจน์ ระบุว่า ส่วนที่ว่าเหตุใดจะต้องใช้ตั๋ว P/N ทำไมไม่ใช้เป็นสัญญาเงินกู้นั้น เป็นเพราะมีเรื่องของค่าอากรด้วย ถ้าสัญญาเงินกู้ทุก 2,000 เสีย 1 บาท แต่จะมีเพดานที่ 10,000 บาท แต่การเป็นหนี้ระดับร้อยล้านพันล้าน แต่มีเพดานค่าอากรอยู่ฉบับละ 10,000 บาท 9 ฉบับ รวม 90,000 บาท แต่ถ้าใช้ตั๋ว P/N ค่าอากรฉบับละ 3 บาท

"ดังนั้น การที่เลือกใช้ตั๋ว P/N เป็นการประหยัดค่าอากร จาก 90,000 บาทก็ไม่ต้องเสีย แต่เสียแค่ฉบับละ 3 บาท รวม 27 บาทเท่านั้น ที่ได้จากสัญญา 9 ฉบับ แต่ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ผิด แต่สะท้อนว่า มีการบริหารภาษีได้อย่างดุดัน และดุดันแบบไม่เกรงใจใคร และในกรณีของผู้ถือหุ้นที่ขายกันในราคาทุน ไม่มีส่วนเกินหรือกำไร ก็ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" นายวิโรจน์ กล่าวพร้อมย้ำว่า การที่มุ่งเป้าไปที่น.ส.แพทองธาร เพราะไม่ใช่บุคคลทั่วไป เป็นนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจรัฐ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องให้เวลากับกรมสรรพากรเพื่อทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกับจะใช้กลไกของกรรมาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจ ของสภาผู้แทนราษฎรติดตามความคืบหน้า และอาจจะต้องเชิญอธิบดีกรมสรรพากร ไปชี้แจงต่อที่ประชุม และเชิญผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพราะกรณีนี้หากเป็นไปในแนวทางปฏิบัติของอธิบดีกรมสรรพากร จะส่งผลให้ให้ภาษีการรับให้ จะไม่สามารถจัดเก็บได้เลย และจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หลายคนตีความเจตนา คิดว่าตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทางการเงิน ในการให้เครดิตระยะสั้น ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่ต้องดูเจตนาที่แท้จริงว่าเป็นการซื้อขายจริงหรือไม่ หรือจงใจสร้างการซื้อขายผิดรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้

"เจตนาที่แท้จริง ถ้าเป็นการซื้อขายจริงก็ไม่ผิด แต่ถ้าเจตนาที่แท้จริง จงใจทำนิติกรรมอำพราง สร้างรูปแบบการซื้อขายขึ้นมา ทั้งที่เจตนาจริงคือการรับให้หุ้น ถ้าเจตนาเป็นนิติกรรมอำพราง ยืนยันแล้วผิด ดังนั้นคนที่จะสืบสวนเรื่องนี้ และมีคำวินิจฉัยออกมาว่า เงื่อนไของค์ประกอบและวิธีการอะไรที่จะเข้าข่ายการทำผิดนิติกรรมอำพราง สร้างการซื้อขาย คือ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กรณีนี้จะดูแค่ปลายทางไม่ได้ ต้องดูถึงพฤติกรรมและอาจต้องย้อนดูไปถึงการยักย้ายถ่ายเทหุ้นของ น.ส.แพทองธาร กับบุคคลอื่น ๆ ด้วย จะได้ดูว่าพฤติการณ์ในลักษณะนี้ เป็นการซื้อขายกันจริง ๆ หรือไม่" นายวิโรจน์ กล่าว

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายวิโรจน์ พร้อมด้วยนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กรุงเทพฯ และนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เดินทางต่อไปยังกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงแรม Thames Valley เขาใหญ่ ของนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งพรรคประชาชนได้อภิปรายไว้ว่าสามารถครอบครองได้ แต่ไม่สามารถออกโฉนดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ