ประธานศาลรธน. ย้ำวางตัวเป็นกลาง เป็นที่พึ่งปชช.- แก้พิพาทการเมือง ไม่ขัดข้องแก้ไขที่มา

ข่าวการเมือง Thursday April 10, 2025 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องตรงมาจากประชาชนมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิ แต่ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือเขียนคำร้องอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การร้องตรงที่บางคนเรียกว่าการร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนเชื่อมั่นใจศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำร้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการยื่นฟ้องชู้ ให้สิทธิผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันในการยื่นร้องแต่ละฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงฝ่ายชายที่ยื่นฟ้องฝ่ายหญิง แต่ศาลชี้ชัดว่า การฟ้องชู้ของผู้หญิงสามารถยื่นฟ้องได้ ไม่ว่าชู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งศาลได้แก้ไขสิทธิตรงนี้ให้ใช้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน

ทั้งนี้ ได้หารือในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเขียนคำร้องให้ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งหากเรื่องใดที่ศาลรับได้ก็จะรับไว้พิจารณา

ในอีกมุมหนึ่ง คือหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องที่มาจากองค์กรทางการเมือง การที่ยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา เมื่อพูดถึงความรักสามัคคีไม่ใช่เฉพาะในมิติบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีมิติขององค์กร หรือสถาบันทางการเมืองต้องมีความเชื่อมโยงกัน และมีความรัก สามัคคี มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน ศาลจะพิจารณารับเรื่องที่มาจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งยื่นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือรัฐสภาก็รับอย่างที่ปรากฎให้เห็น

"สถาบันข้างเคียงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การเผชิญหน้ากันของสถาบันต่าง ๆ หมดไปแล้ว คาดว่าจะถึงยุคที่จะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันต่าง ๆ" นายนครินทร์ กล่าว

นายนครินทร์ กล่าวว่า การที่องค์กรต่าง ๆ มีปัญหากันเอง และแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ก็ต้องหาองค์กรภายนอกเข้ามาช่วยตัดสิน และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถช่วยได้ก็มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย ให้สังเกตว่าคนพยายามยื่นเรื่องก็จะใช้วิธีการขู่ว่าจะยื่นศาล แต่ศาลจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง รอบคอบว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นร้องหรือไม่ หรือศาลมีอำนาจที่จะตัดสินเรื่องนั้นหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะไม่ยื่นมือไปเกี่ยวข้อง

นายนครินทร์ ยอมรับว่า ในการทำงานมีความหนักใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พยายามบอกกับทุกคนว่า ศาลเป็นองค์กรควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย ส่วนการตัดสินคดีทางการเมือง เป็นหน้าที่เสริมเท่านั้น แต่คนสนใจแค่อำนาจหน้าที่เสริม เช่น เมื่อไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ตัดสินให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมีกลไกพิจารณา ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน ไม่ได้มาจากรัฐสภา ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง เป็นตัวอย่างให้เห็น

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองนั้น นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิง แต่ศาลวางตัวเป็นกลาง ตั้งมั่นอยู่ในกฎกติกาศาลรัฐธรรมนูญ เวลามีคำร้องเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งมีคนส่งเข้ามามากมาย แต่ศาลก็จะดูว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องหรือไม่ ถูกขั้นตอนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายก็ตัดออก เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมาก็มีให้เห็นในคำร้องที่ 1 ที่ศาลได้ออกเอกสารข่าวมา เขากลั่นแกล้งกันเต็มที่เราก็ตัดออก แต่ตนไม่ขอให้รายละเอียดกรณีดังกล่าว

ในส่วนของข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่มาหากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา แต่มีที่มา 2 ส่วน คือผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 2 คนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และกรรมการสรรหาอีก 4 คน ก็ต้องผ่านวุฒิสภา

"ไม่ขัดข้องหากจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา แต่ควรจะมีองค์กรที่ให้การรับรองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กรรมการสรรหาได้ลงมติไปแล้ว" นายนครินทร์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ