นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานสัมมนา "ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง" ว่า หลังเกิดคดีซุกหุ้นภาคแรกส่งผลให้สังคมหมดความศรัทธาและความเชื่อถือต่อศาลรัฐธรรมนูญจนถูกเรียกว่าเป็นศาลการเมือง ซึ่งเมื่อตนเข้ามาทำงานได้พยายามหาทางเรียกความเชื่อมั่นกลับมา และยกสถานะเป็นฝ่ายตุลาการของประเทศ ไม่ได้เป็นแค่องค์กรตรวจสอบเท่านั้น แต่ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความโดดเด่นเหนือองค์กรอิสระอื่น ๆ แต่ต้องการสร้างความเข้มแข็งเพื่อคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และคงให้คะแนนการทำงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญ 80%
ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรที่ทำให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมได้ แต่อยากเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอออกกฎหมายกรณีรัฐธรรมนูญรับรองประกาศคณะปฏิวัติ แต่มีบางเรื่องขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่น การจำกัดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะเมื่อคณะปฏิวัติพ้นจากอำนาจไปแล้วก็ควรให้ประกาศฯ ที่ออกมาสิ้นสภาพตามไปด้วย
นอกจากนี้อยากขอร้องฝ่ายนิติบัญญัติอย่าเขียนกฎหมายบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคหากกระทำผิดในประเด็นใดบ้าง เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถที่จะตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องเผชิญหน้ากับสังคม และการสั่งยุบพรรคก็ไม่เกิดผลอะไร สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้
ขณะที่จุดยืนของศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีความมั่นคง ไม่เปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงการทำงานจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจม็อบ เพื่อสร้างความเชื่อถือและศรัทธาจากสังคม
พร้อมทั้งแนะนำให้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และความพร้อมของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างกรณีที่จะมีการเสนอกฎหมายจัดตั้งบ่อนกาสิโนนั้น ยังไม่เหมาะสมกับสังคมไทยเพราะไม่มีความพร้อม และขอให้ช่วยกันดูแลประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขออนุญาตไม่ให้คะแนนเพราะจะถูกมองไปได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ การประเมินสิ่งใดขึ้นอยู่กับบริบทและทัศนคติของแต่ละคน อย่างกรณีการบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่
การตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเป็นความเห็นที่แตกต่างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน แต่ขณะนี้ไม่ควรมีคำถามว่าจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากจะเดินไปข้างหน้าควรจะดำเนินการอย่างไร
วิกฤตของประเทศที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางความคิดในอดีต เนื่องจากการศึกษาเน้นเรื่องท่องจำ ทำให้องค์ความรู้ของคนในสังคมมีความแตกต่างกัน เพราะประสิทธิภาพของสมองแต่ละคนมีข้อจำกัด ในการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงความละเอียดรอบคอบ และจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา โดยทำงานตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด
อย่างกรณีที่ สว.เข้าชื่อยื่นถอดถอนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่าแทรกแซงการทำงานของ DSI ซึ่งต้องดูว่ามีเจตนาอย่างไร หรือกรณีที่รัฐให้สัมปทานผลิตไฟฟ้ากับภาคเอกชน ซึ่งจะดูแต่เรื่องความถูกต้องในการให้สัมปทานเท่านั้นไม่ได้ เพราะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชนให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ขณะที่นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนให้คะแนนเต็มร้อยสำหรับการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย และความอดทนต่อแรงเสียดทานทางสังคม แต่ขอให้คะแนนในเรื่องการสื่อสารถึงผลการพิจารณาคดีให้ประชาชนเกิดความเข้าใจน้อยหน่อย
ศาลรัฐธรรมนูญจะมีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดความคิดเห็นของสังคมที่ขัดแย้งกัน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเกิดรัฐประหาร ถ้าไม่มีศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะให้องค์กรใดเป็นผู้ดูแลแทน อย่างกรณียุบพรรคหากเราไปใช้แนวทางเหมือนประเทศฝรั่งเศสเชื่อว่าจะเกิดเหตุรุนแรงจนแผ่นดินลุกเป็นไฟ
อย่างไรก็ตาม ตนอยากเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้กลับไปทบทวนผลการดำเนินงานในแต่ละปีว่ายังมีอะไรที่เป็นจุดบกพร่องหรือไม่
ส่วนนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การให้คะแนนผลงานของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยาก เพราะการทำงานที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องจึงต้องประเมินในแต่ละช่วงเวลา แต่ขอแสดงความชื่นชมเรื่องความอดทนของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่เคยออกมาตอบโต้
ที่ผ่านมาคนทั่วไปเข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรด้านตุลาการ แต่เริ่มเห็นบทบาทชัดเจนราวปลายปี 2549 ที่คำตัดสินมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น กฎเกณฑ์ทางประชาธิปไตยหดตัวลง ซึ่งจะเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดูแนวคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ในอนาคตจึงต้องพิจารณาว่าตัวบทที่มีอยู่ควรจะใช้ต่อไปหรือไม่ เพื่อไม่เปิดช่องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนวินิจฉัยไปตามความคิดเห็นของตัวเอง ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญควรออกแบบให้การวินิจฉัยมีมาตรฐานชัดเจน
"เราจะไปโทษศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เพราะทำหน้าที่ไปตามตัวบทที่ให้อำนาจไว้ เช่น เรื่องจริยธรรม ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะไปชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองได้" นายวรเจตน์ กล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีบทบาทสำคัญต่อสังคม อย่างกรณีคำตัดสินในคดีชิมไปบ่นไปที่มีการตีความคำว่า "ลูกจ้าง" ซึ่งต่อมากลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกนำไปใช้เป็นการทั่วไป