หลังจากที่พายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มพม่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วที่นานาประเทศยังต้องใช้ความพยายามในรูปแบบต่างๆ เพื่อกดดันให้พม่าเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับโรคระบาด การขาดแคลนที่อยู่อาศัย และไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยบรรเทาทุกข์ได้อย่างทั่วถึง
กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างอาเซียนก็ได้มีการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด่วนที่สิงคโปร์ เพื่อหารือถึงการให้ความช่วยเหลือพม่า ซึ่งที่ประชุมมีมติส่งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนเดินทางไปเพื่อเข้าพบผู้นำพม่า
ทางด้านคู่ปรับเก่าอีกฟากโลกอย่างสหรัฐก็กระตือรือร้นและเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือพม่าอย่างเต็มที่ โดยจัดส่งปัจจัยบรรเทาทุกข์มายังประเทศไทย และทูตสหรัฐประจำประเทศไทยก็ได้ประสานงานกับรัฐบาลไทยเพื่อที่จะช่วยเหลือพม่าอย่างสุดความสามารถ
ขณะที่ต่างชาติร่วมมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนชาวพม่านั้น ทางรัฐบาลพม่าเองดูเหมือนว่าจะเพิกเฉยกับการหยิบยื่นความช่วยเหลือจากนานาประเทศ พึ่งจะมีภาพของผู้นำพม่าคือ พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าและภรรยา เดินทางจากกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ ไปเยี่ยมค่ายบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พ.ค.
อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายบัน กี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ก็ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลพม่าให้เดินทางไปยังพม่า
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวภายหลังจากที่ได้เข้าพบ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ที่กรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงของพม่า ในช่วงเช้าวันนี้ว่า ผู้นำรัฐบาลทหารตกลงที่จะอนุญาตให้เจ้าที่บรรเทาทุกข์ชาวต่างประเทศเข้าพม่าได้แล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหลายแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิส
ทั้งนี้ มีนักวิชาการได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่อาจจะทำให้พม่าลังเลที่จะตอบรับความช่วยเหลือจากต่างชาติไว้อย่างน่าสนใจ โดยคริสโตเฟอร์ โรเบิร์ตส์ นักวิชาการจากวิทยาลัยการศึกษาราชารัตนัมของสิงคโปร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการเมืองพม่า ระบุว่า ในขณะที่ผู้นำทั่วโลกกำลังพยายามที่จะแนะนำให้พลเอกตาน ฉ่วย ผู้นำทหารพม่า รับมือกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มนั้น ผู้นำของพม่าอาจจะกำลังฟังคำแนะนำจาก"หมอดู" อยู่ โดยผู้นำในรัฐบาลยังเป็นผู้ที่มีความเชื่อในอำนาจของเรื่องโชคลางต่างๆ
อิรวดี นิวส์ นสพ.รายสัปดาห์เคยรายงานเบื้องหลังของการตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของประเทศพม่าว่า หมอดูได้ออกมาเตือนว่า จะเกิดเหตุนองเลือดในกรุงย่างกุ้ง ส่งผลให้พม่าย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้งไปอยู่เมืองเนปิดอว์ แม้ว่าเมืองเนปิดอว์จะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและอยู่ลึกเข้าไปถึง 300 กิโลเมตรก็ตาม
โรเบิร์ตส์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากมีผู้ที่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์จำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมผู้นำเหล่านี้จึงตัดสินใจออกมาอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--