กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อถอดถอนประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 50 ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ เพื่อถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่ามีความผิดใน 4 ข้อ คือ ความผิดของ ส.ส. มาตรา 122 เป็นการปฎิบัติหน้าที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก ส.ส.บางส่วนสังกัดพรรคการเมืองที่กำลังถูกดำเนินคดียุบพรรค ดังนั้นการร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้พรรคการเมืองของตนพ้นความผิด
ความผิดของ ส.ว.ตามมาตรา 122 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างของวุฒิสภาทั้งที่มาและอำนาจหน้าที่หวังเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้ยุบ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ฉะนั้นการดำเนินการของ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำที่มีส่วนได้เสีย
ความผิดตามมาตรา 291 เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งเนื้อหาและรูปแบบที่เสนอมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีลักษณะเป็นการให้นำบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 40 มาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 50 เท่ากับเป็นการขัดหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายความผิดตามมาตรา 68 ที่พบว่าญัตติขอแก้ไขครั้งนี้ทั้งรูปแบบและวิธีการในการเสนอต่อรัฐสภาเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญปี 50
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า จะจัดชุมนุมอย่างยืดเยื้อต่อไปจนกว่าจะมีการถอนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากสภาหรือทันทีที่ญัตตินี้เป็นโมฆะ โดยสัปดาห์นี้จะล่าชื่อประชาชนครบ 2 หมื่นคนเพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาได้สำเร็จ
"เราจะไม่อยู่ในเกมประชามติของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่านอกจากเงิน 2 พันล้านบาท จะซื้อความรำคาญของนายสมัคร(นายกรัฐมนตรี) และซื้อความสงบสุขไม่ได้แล้ว ยังสร้างความขัดแย้งให้บานปลายออกไปอีก และการทำประชามติโดยที่ไม่หยุดกระบวนการในสภาเท่ากับเป็นเกมเล่นการเมืองสองหน้า" นายสุริยะใส กล่าว
ส่วนเหตุความรุนแรงจากการชุมนุมวานนี้(25พ.ค.)จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่นั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า พันธมิตรฯ ไม่ต้องการให้รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายนี้ และเชื่อว่าหากอีกฝ่ายไม่ตามมาก่อกวนก็จะไม่มีปัญหานี้ขึ้น อย่างไรก็ดีจากเหตุการณ์ดังกล่าวตำรวจนครบาลได้ขอโทษต่อพันธมิตรฯ ในความหละหลวมด้านการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งทางกลุ่มพันธมิตรฯ ให้อภัยได้ แต่ขอว่าเหตุการณ์แบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการจากนี้ไปกลุ่มพันธมิตรจะต้องไปหารายชื่อประชาชนให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ จากนั้นต้องส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการถอดถอนตามคำร้อง และคาดว่าในวันที่ 28 พ.ค.จะส่งรายชื่อไปยังสำนักทะเบียนราษฎร และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--