“ตอนที่ดิฉันเดินทางกลับมายังพม่าเมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ดิฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่ม ทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อ เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของดิฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้องประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ (นายพลอองซาน “บิดาแห่งเอกราช" ของพม่า) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉันต้องเข้าร่วมด้วย"
นั่นคือคำกล่าวที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของสตรีรูปร่างผอมบางนามว่า “ออง ซาน ซูจี"
หลังเที่ยงคืนของวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สิทธิทางกฎหมายในการกักตัวสตรีวัย 62 ปีท่านนี้จะหมดลง ทั่วโลกต่างหวังว่าอิสรภาพของนางจะนำประเทศแห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดีไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบเสียที
แต่ความหวังก็พังทลายลงอีกครั้ง...
สองวันหลังครบกำหนดการกักตัวนางซูจี รัฐบาลทหารพม่าโดยการนำของพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประกาศขยายเวลากักขังนางออกไปอีกปี เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศขยายระยะเวลาในการกักบริเวณนางซูจีมาโดยตลอด
การตัดสินใจของรัฐบาลทหารพม่าซึ่งยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ถือเป็นการ “ ตบหน้า" นายบัน กี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และนักการทูตจากอาเซียนที่ไปจัดการประชุมเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อไซโคลนนาร์กีสในพม่า เนื่องจากทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าพม่าจะปล่อยตัวนางซูจีเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อประชาคมโลกที่มีน้ำใจให้ช่วยเหลือพม่าอย่างเต็มที่
ในขณะเดียวกัน หลายฝ่ายอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากตามกฎหมายความมั่นคงของพม่า รัฐบาลจะคุมขังผู้ใดโดยไม่ตั้งข้อหาหรือไม่มีการพิจารณาคดีได้สูงสุด 5 ปี และในระหว่างนั้นจะต่ออายุได้เพียงครั้งละ 1 ปี ซึ่งนางซูจีถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายฉบับนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 และมีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่านางซูจีถูกคุมขังครบตามกำหนดแล้ว
รัฐบาลทหารพม่ารู้ “ กฎหมาย" ดี แต่ก็ยังประกาศขยายเวลาการกักขังนางซูจีออกไปอีก ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกระทำอันไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลทหารพม่าคงไม่สามารถสั่นคลอนจิตใจของ “วีรสตรีประชาธิปไตย" ท่านนี้ ผู้ซึ่งถูกจองจำอิสรภาพมานานกว่า 12 ปี บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี นับแต่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก
เส้นทางการต่อสู้ของ “ดอกไม้เหล็ก" แห่งลุ่มแม่น้ำอิรวดี
ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 พม่ากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความวุ่นวายทางการเมือง ประชาชนไม่พอใจการปกครองระบอบเนวินและรวมตัวกันประท้วงกดดันจนนายพลเนวินต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่ยึดอำนาจปกครองพม่ามานานถึง 26 ปี
8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 หรือราว 2 สัปดาห์หลังการลาออกของนายพลเนวิน ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในย่างกุ้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องสังเวยชีวิตไปหลายพันคน
15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี วัย 43 ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากนั้น 11 วันก็ได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน
24 กันยายน พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค
20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลเผด็จการสั่งกักบริเวณนางซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกด้วยระยะเวลา 3 ปีโดยไม่มีข้อหา และจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขัง
27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 พรรคเอ็นแอลดีของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้ และยื่นข้อเสนอให้นางซูจียุติบทบาททางการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตกับสามีและบุตร แต่นางปฏิเสธ รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอเป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา
14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 นางซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรกแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นยังถูกลอบทำร้ายบ่อยครั้งแม้จะมีกำลังตำรวจคอยคุ้มกันก็ตาม แต่นางก็ต่อสู้ด้วยสันติวิธีตลอดมา โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป ออกสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง
21 กันยายน พ.ศ.2543 นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 โดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดเช่นเคย และได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุนนางซูจี นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 3 โดยรัฐบาลพม่าอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของนางซูจีเอง หลังจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ขยายระยะเวลาในการกักขังนางซูจีมาโดยตลอด
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ครบกำหนดการคุมขังนางซูจีตามกฎหมายความมั่นคงของพม่า แต่รัฐบาลพม่ายังประกาศขยายเวลากักขังนางต่อไปอีกปี
ระยะเวลา 18 ปีนับตั้งแต่ถูกจองจำครั้งแรก แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ความแข็งแกร่งของ “ดอกไม้เหล็ก" ได้สร้างความหวาดหวั่นและเกรงกลัวให้กับรัฐบาลทหารพม่าจนไม่อาจปล่อยให้นางเป็นอิสระได้ ไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางการต่อสู้ของนางจะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่ “ วีรสตรี" ท่านนี้จะต่อสู้จนกว่าประชาชนชาวพม่าจะหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการและมีอิสระภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
หรือจนกว่านางจะหมดลมหายใจ...
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--