ปชป.มองท่าที่รัฐบาลไม่จริงใจ หวั่น"สมัคร"หยิบพ.ร.ก.ฉุกเฉินใช้สกัด

ข่าวการเมือง Sunday June 1, 2008 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า วันนี้นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมด่วนแกนนำพรรค กรรมการบริหารพรรค และส.ส.ของพรรค เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามการดำเนินการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างใกล้ชิด ส่วนสาเหตุที่เรียกประชุมด่วนเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากคำแถลงของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่จะเข้าสลายการชุมนุม ต่อเนื่องมาถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย บอกว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมและนายกฯ ก็ออกมาพูดเมื่อเช้าโดยพยายามอธิบายว่าไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะสลายการชุมนุมก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ
นายองอาจ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาผู้ชุมนุมอยู่ในขั้นตอนที่สุ่มเสี่ยง ขาดความรอบคอบระมัดระวัง และพยายามใช้เงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมมาดำเนินการก่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศต่อไป ซึ่งวันนี้นายกฯ ได้แสดงตัวตนออกมาอีกครั้งในการพยายามเอาสีข้างเข้าถู เพราะออกมาบอกว่าคำพูดเมื่อวานนี้ไม่ได้เป็นคำสั่งเพื่อที่จะให้สลายการชุมนุม และจะไม่มีการใช้กำลัง ถ้ากำลังตำรวจเข้าไปก็จะให้ทีวี เข้าไปถ่ายทอดด้วย
“คำพูดของนายกฯ วันนี้แตกต่างจากเมื่อวาน เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง ฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ต่างมีความเห็นตรงกันว่าคำพูดของนากยกฯ ใช้คำแตกหัก เพราะจะเอาตำรวจทหารเข้าไปดำเนินการ ไม่ว่านายกฯ จะใช้คำอะไรในวันนี้ก็ไม่สามารถลบล้างที่ท่านแสดงออกเมื่อวาน และแม้เมื่อวานจะไม่ใช้คำพูดว่าสลายการชุมนุมแต่องค์ประกอบโดยรวมก็ไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ ทำให้วันนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับจากภารกิจในต่างจังหวัดและเรียกประชุมแกนนำด่วนเพื่อประเมินสถานการณ์ เพราะไม่เชื่อมั่นรัฐบาลที่พูดกลับไปกลับมา จะตีสองหน้าหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะรัฐบาลไม่แสดงความจริงใจ ในการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง" นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวต่อว่า อยากฝากถึงรัฐบาลอย่ามองปัญหาอย่างผิวเผิน และอย่ามองเรื่องการกีดขวางจราจร เพราะเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่คนมาชุมนุมก็เพราะรัฐบาลสร้างเงื่อนไขที่เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เมื่อเห็นว่าประชาชนไม่ทำอะไรก็ออกมาแก้ไขมาตรา 309 จนกระทั่งมาถึงการแก้ทั้งฉบับ ยกเว้นเพียง 2 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และเมื่อประชาชนจับได้ไล่ทันก็แก้เกี้ยวได้การเสนอทำประชามติ สะท้อนให้เห็นว่าเล่นเล่ห์เพทุบาย สร้างเกมการเมืองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ มากกว่าจะแก้ที่ปลายเหตุ
นายองอาจ กล่าวอีกว่า จากการที่มีรายงานข่าวมาจากกระทรวงกลาโหมที่มีนายสมัครเป็น รมว.กลาโหม ว่าจะมีการหยิบยก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้ามาดำเนินการกับผู้ชุมนุมที่สามารถทำให้ตำรวจ ทหาร สามารถใช้กำลัง อาวุธ วิธีการหลายรุปแบบที่จะดำเนินการ จึงขอเตือนว่าอย่าพยายามใช้ พ.ร.ก.นี้กับผู้ชุมนุม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่อาชญากร หรือผู้ก่ออาชญากรรม หรือผู้ทำลายความมั่นคงของประเทศ หากมีการทำผิดอะไรก็ต้องจัดการตามกฎหมาย
“ผมขอเตือนรัฐบาลว่า แม้จะมีความพยายามจับกุมแกนนำทั้งห้า ของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่สามารถยุติการชุมนุมนี้ได้ เพราะการเรียกร้องเกิดความกลุ่มคนที่มีความคิดที่ ดังนั้น อย่าใช้เงื่อนไข หรืออำนาจจัดการ เพราปัญหาการเมืองเป็นเรื่องความคิดที่แตกต่าง ไม่ว่าจะจับกุมแกนนำอย่างไรก็จะมีคนใหม่เข้ามาทดแทน หากรัฐบาลบริหารราชการตามปกติไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญใครจะมาชุมนุมได้ ทุกคนให้โอกาสรัฐบาลแล้ว แต่ดูเหมือนรับบาลจะใช้โอกาสใช้เหลือแบบปล่อยไปวันๆ สุดท้ายก็จะหมดโอกาส"นายองอาจกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ