องค์การสหประชาชาติชี้ว่า ผู้รอดชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กิสในแถบลุ่มน้ำอิระวดีของพม่ามีแนวโน้มว่าจะต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารเป็นเวลาถึง 1 ปี เนื่องจากพายุไซโคลนที่พัดกระหน่ำพม่าเมื่อเดือนที่แล้วทำลายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเป็นจำนวนมาก
พอล ริสลีย์ โฆษกของโครงการอาหารโลกกล่าวว่า ภาคครัวเรือนและเกษตรกรจะต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบของอาหารไปจนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เวลาถึง 1 ปีต่อจากนี้
พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 200,000 เฮคเตอร์ หรือ 494,210 เอเคอร์ หรือคิดเป็น 16% ของพื้นที่การเกษตรในบริเวณลุ่มแม่น้ำได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กิส โดยพม่ามีรัฐที่ผลิตข้าว ปลา และเนื้อสุกรได้เป็นปริมาณส่วนใหญ่ของประเทศถึง 5 รัฐ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า องค์กรความช่วยเหลือนานาชาติกำลังเพิ่มการดำเนินการเพื่อจัดหาปัจจัยช่วยเหลือแก่ประชาชนกว่า 2.4 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.และทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย 134,000 ราย ในขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆส่งถึงมือประชาชนเพียงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการให้ความช่วยเหลือลงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในทันที
คลื่นยักษ์ที่มากับพายุไซโคลนนั้นทำให้พื้นที่เพาะปลูกและที่ดินเป็นระยะทางยาวประมาณ 35 กิโลเมตรได้รับความเสียหายและยังจมอยู่ใต้กระแสน้ำ
ฮิโรยูกิ โคนูม่า รองผู้แทนโครงการอาหารโลกกล่าวว่า พม่าจำเป็นต้องหว่านข้าวอย่างเร้วสุดในช่วงสิ้นเดือนก.ค.นี้ มิฉะนั้นการผลิตข้าวก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก และเกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศพม่าเอง
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--