แกนนำ 61 ส.ว.ปรับรูปเกมใหม่หลังนายกฯ ปัดญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เตรียมยกร่างคำร้องยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดรัฐบาลจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.
น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี พร้อมด้วย นายสมชาย แสวงการ, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ร่วมกันแถลงข่าววันนี้ว่า ได้รับทราบหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่มาชี้แจงในวันที่ 23 มิ.ย.โดยมีความเห็นร่วมกันว่านายกรัฐมนตรีกระทำผิดหน้าที่ จึงจะหามาตรการดำเนินการต่อไป
นายคำนูณ กล่าวว่า ส.ว.ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ในการขอเปิดอภิปรายทั่วไป ก็เป็นหน้าที่ของอีกฝ่ายจะมาชี้แจง ถึงแม้จะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 162 มีข้อยกเว้นในกรณีมีเหตุจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อดูหนังสือแจ้งมาเป็นเหตุผลที่ไม่สมควร ถือว่ารัฐบาลจงใจที่ไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น จึงมีผู้เสนอให้ดำเนินการตาม 2 ทาง คือ 1.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 โดยขอความร่วมมือจาก ส.ส.ทุกพรรค เพื่อเปิดประชุมสมัยวิสามัญอีกครั้ง แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องรองและต้องดำเนินการหลังวันที่ 28 มิ.ย.ไปแล้ว
และ 2.ในเมื่อรัฐบาลจงใจไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญก็มีช่องให้ดำเนินการ 2 ทาง คือ การยื่นถอดถอนนายกฯและรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270-274 แต่กรณีนี้เราทำไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของประชาชนที่จะเข้าชื่อ 2 หมื่นคนขึ้นไปหรือ ส.ส.จำนวนหนึ่งในสี่
ขณะที่อีกช่องทางคือการดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ 275 ที่เปิดโอกาสให้ ส.ว.สามารถยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)พิจารณาไต่สวนมูลความผิด เพื่อส่งให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป
"ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 เปิดโอกาสให้ ส.ว.ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาไต่สวนมูลความผิด เพื่อส่งให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป ซึ่งเราจะดำเนินการผ่านช่องทางนี้" นายคำนูณ กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวว่า รัฐบาลขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาที่มีสิทธิโดยชอบทำให้ ส.ว.เสียสิทธิตกเป็นผู้เสียหาย ซึ่งตนเองได้รับมอบหมายให้ยกร่างคำร้องที่จะส่งให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ซึ่งคาดว่าน่าจะส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาได้ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ซึ่งหาก ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและมีมติชี้มูลความผิดด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง รัฐบาลจะต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ทันที
ด้านนายสมชาย เห็นว่า รัฐบาลควรใจกว้างเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอีกครั้งระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค.นี้ก็ได้ เพราะมีญัตติของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และของ ส.ว.ค้างอยู่ อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมาตอบตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะฝ่ายบริหารที่ต้องมาตอบฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่มาถือว่าจงใจขัดรัฐธรรมนูญ
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--