ผู้นำฝ่ายค้านชี้"สมัคร"บริหาร 4เดือนชาติเสียหาย-ล้มเหลว-ไร้ประสิทธิภาพ

ข่าวการเมือง Tuesday June 24, 2008 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดฉากอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 7 คน เนื่องจากเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่กลับมีประสิทธิภาพสูงในการทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง 
"สี่เดือนที่ผ่านมา คนไทยสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในการทำงาน แต่กลับมีประสิทธิภาพสูงในการทำงานให้พวกพ้อง...สี่เดือนยังเป็นแบบนี้ ถ้าปล่อยไว้สี่ปีจะเป็นอย่างไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านฯ เห็นว่า การทำงานของรัฐบาลใน 3 ด้านหลักประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งได้แก่ ด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร เงินเฟ้อ ปัญหาปากท้องประชาชน, ด้านการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสุดท้ายด้านความสมานฉันท์ของคนในชาติที่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งจะยิ่งบานปลาย
สำหรับความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้านพลังงานนั้น นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยต่อการที่ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีกำไรปีละแสนล้านบาท โดยไม่คิดที่จะตรวจสอบ ซึ่งกำไรที่ได้มานั้นเป็นกำไรที่เกิดจากการผูกขาดด้านพลังงานท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่เห็นแม้แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PTT และกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแล พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า จะหาแนวทางเพื่อที่จะช่วยผลักดันให้กำไรปีละแสนล้านบาทของ PTT นำมาซึ่งประโยชน์ที่สูงสุดแก่คนในชาติ
"นายกฯ นั่งดูราคาน้ำมันขึ้น นั่งดู ปตท.กำไรแสนล้าน โดยไม่คิดจะตรวจสอบว่าอะไรจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนของประเทศ...กำไรปีละแสนล้านเป็นกำไรจากโครงสร้างของการผูกขาด เพราะต้องแก้ตรงนี้ แต่ที่ผ่านมาแก้ไม่ได้ เพราะกฎหมายแข่งขันทางการค้าได้ยกเว้นให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผมไม่เคยเห็นว่ากระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์จะหันมาวางแนวทางให้คนไทยว่ากำไรแสนล้านบาทนี้ จะผลักดันให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร" นายอภิสิทธิ์ ระบุ
ส่วนการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะในยามที่ประเทศต้องการแก้ปัญหาเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อสูง แต่กลับมีการทำงานที่ขาดความเป็นเอกภาพและความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากความเห็นทางด้านทฤษฎีการปฏิบัติงานที่ต่างกัน แต่เป็นเพราะ รมว.คลัง พยายามผลักดันพวกพ้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานภายในคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งผู้ที่ถูกผลักดันเข้ามานั้นถูกตั้งข้อกล่าวหาในการกระทำทุจริตจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)
ผู้นำฝ่านค้าน ยังกล่าวด้วยว่า ต้นเหตุของการทำให้ประชาชนต้องลุกฮือออกมาต่อต้านรัฐบาล เป็นเพราะรัฐบาลล้มเหลวในการสร้างความสมานฉันท์ เพราะรัฐบาลนี้มีประสิทธิภาพสูงในเรื่องของการล้างแค้น และการแสวงหาประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของตัวเอง ซึ่งต่างกับประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างมาก
ขณะที่ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เป็นอีกชนวนหนึ่งที่ทำให้ความสมานฉันท์ต้องล้มเหลว ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมคัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเมื่อการชุมนุมมีทีท่าว่าจะบานปลาย นายกรัฐมนตรีกลับเติมเชื้อไฟเข้าไปให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
"ก่อนหน้านี้ก็สงบดี ไม่มีใครลุกขึ้นมาชุมนุม เรื่องนี้จึงเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุม ความล้มเหลวในการสร้างความสมานฉันท์คือตัวท่านเอง(สมัคร สุนทรเวช) พอการชุมนุมทำท่าจะลุกลาม ท่านก็ยิ่งเติมเชื้อไฟเข้าไปอีกด้วยการบอกว่าจะต้องแตกหัก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ดังนั้นหากปล่อยให้รัฐบาลบริหารประเทศจนครบวาระ 4 ปี บ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้อย่างไร หลายคนมองดูประเทศไทยแล้วเห็นว่าควรจะต้องมีรัฐบาลที่ดีกว่านี้ ดังนั้นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวเน้นหนักประเด็นข้อพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร โดยระบุคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีเรื่องปราสาทพระวิหารว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะได้ยืนยันมาตลอดว่าปราสาทพระวิหารเป็นสิทธิครอบครองของกัมพูชา เพราะไทยสูญเสียดินแดนดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2505 เมื่อถูกศาลโลกตัดสินให้แพ้คดี
"รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯปรารถนาที่จะตั้งข้อสงวนอันชัดแจ้งเกี่ยวกับสิทธิใดๆ ที่ประเทศไทยมี หรืออาจมีในอนาคตเพื่อเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา" นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงบันทึกของรัฐบาลไทยที่มีถึงเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า เมื่อแพ้คดีแม้รัฐบาลไทยในอดีตจะไม่ฝ่าฝืนยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ไม่มีการพูดเรื่องเขตแดนและสงวนสิทธิ์เอาไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ