นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โดยระบุว่า นพ.สุรพงษ์ มีความบกพร่องต่อหน้าที่การบริหารงาน เนื่องจากจัดลำดับความสำคัญที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประชาชนไว้หลังปัญหาของผู้มีพระคุณ โดยได้ผลักดันให้คนใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่พอจะมีส่วนเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีพระคุณ
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานที่เป็นสองมาตรฐานในหน่วยงานที่อยู่ในสังกัด โดยเฉพาะกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต ดังจะเห็นได้จากนโยบายการให้จัดเก็บภาษีอย่างเข้มงวด แต่กลับละเลยที่จะจัดเก็บภาษีจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีการเมืองหนุนหลัง ตลอดจนความพยายามที่จะแต่งตั้งผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 111 คน เข้ามาเป็นกรรมการในรัฐวิสหากิจต่างๆ
ในจุดนี้ได้ส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อการทำงานของกระทรวงการคลัง ทั้งๆ ที่ต้องเป็นหน่วยงานที่โปร่งใส ไม่คอรัปชั่น ส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพราะไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินการคลังของประเทศ และท้ายสุดรัฐบาลก็โยนความผิดว่าการเมืองที่ไม่นิ่งทำให้เศรษฐกิจไม่เดินหน้า
"ตอนนี้ม็อบ ถือเป็นแพะแห่งปี...ท่านทำอะไรบ้างที่ให้ต่างประเทศเชื่อมั่น จนถึงตอนนี้ฝรั่งขายหุ้นหมด จริงๆ แล้วเป็นเพราะการเมืองหรือ การเมืองอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่คนปั่นหุ้นปราบได้หรือไม่ ต่างชาติเขาขาดความมั่นใจ อย่ามาบอกว่าการเมืองไม่นิ่งทำเศรษฐกิจไม่เดิน" นายจุติ กล่าว
นายจุติ ยังกล่าวถึงปัญหาด้านธุรกิจของ บมจ.การบินไทย(THAI) ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า ขณะนี้ต้องประสบกับการขาดทุน ส่วนหนึ่งมาจากการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลบางกลุ่มด้วยการเปิดเส้นทางบินตรงในเส้นทางที่ไม่ทำกำไร จนกระทั่งต้องยกเลิกไปเพราะแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว มีการปรับเปลี่ยนเครื่องบินบางเที่ยวบินเพื่อบุคคลบางกลุ่มโดยเฉพาะในเดือน ก.พ.51 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คณะบุคคลที่เดินทางไปรับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ฮ่องกงเพื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก
"การบินไทยต้องเป็นสายการบินแห่งชาติ ไม่ใช่สายการบินของครอบครัวหรือตระกูล คนไทยถือหุ้นอยู่เท่าไหร่"นายจุติ กล่าว
ทั้งนี้นายจุติ ได้เปรียบเทียบความเป็นสายการบินแห่งชาติระหว่างการบินไทย กับสิงคโปร์แอร์ไลน์ พบว่าในปี 47 การบินไทยมีกำไรอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับลดลงมาเหลือ 186 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 50 ขณะที่ในปี 47 สิงคโปร์แอร์ไลน์มีกำไรอยู่ที่ 1,352 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 50
ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วในปี 50 เป็นปีที่ทุกสายการบินต่างประสบกับปัญหาน้ำมันแพง แต่เหตุใดสิงคโปร์แอร์ไลน์จึงยังทำกำไรได้เพิ่มขึ้น แตกต่างจากการบินไทยที่ผลกำไรลดลง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด หละหลวม และฟุ่มเฟือย ดังนั้นหากอยากเห็นการบินไทยมีผลกำไรในอนาคตก็ต้องเลิกให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง และต้องหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในธุรกิจด้านการบินเข้ามาบริหารงาน ไม่ใช่แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีความใกล้ชิดกับอดีตผู้นำมาเป็นกรรมการบริหาร ซึ่งทำให้เสียเปรียบสายการบินต่างชาติที่คัดแต่ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจด้านการบินเข้ามาเป็นผู้บริหารงาน
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ แม้ว่ากระทรวงการคลังจะอยู่ในฐานะโฮลดิ้งคอมปานีที่ถือหุ้นอยู่ในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ แต่ก็มีกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานโดยตรง
"ผมรู้สึกว่าในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การที่จะให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจอาจเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่ทางกฎหมายไม่ควรจะตัดสิทธิบุคคลเหล่านั้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ที่ถูกตัดสิทธิมาดำรงตำแหน่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจ"นพ.สุรพงษ์ กล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาตลาดทุนนั้น ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เกิดความหวั่นไหวต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงถึง 100 จุด นับตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องเร่วด่วนที่จะต้องพยายามเร่งทำให้ความหวั่นไหวเหล่านั้นคลี่คลายลง นอกจากนั้น ยังจะเร่งการขับเคลื่อนแผนงานไปสู่การพัฒนาตลาดทุนอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาจัดทำแผนงานอีกแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--