ฝ่ายค้านจวก"หมอเลี้ยบ"อุ้มคดี SHIN-แทรกแซงบอร์ดแบงก์-ซ่อนเร้นขวางขายหุ้น BT

ข่าวการเมือง Wednesday June 25, 2008 22:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจรมว.คลัง ยกประเด็นใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือผู้มีพระคุณทางการเมืองกรณีตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN)และการดำเนินคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น(SC) พร้อมทั้งผลักดันให้ผู้ใกล้ชิดเข้าไปมีตำแหน่งในบอร์ดสถาบันการเงินเพื่อหวังเล่นงานธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รวมทั้งขัดขวางการขายหุ้นธนาคารไทยธนาคาร(BT)ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน
นายกรณ์ กล่าวว่า รมว.คลัง ไม่ใส่ใจที่จะสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้น SHIN และกรณีของ SC อย่างจริงจัง
นอกจากนั้น ยังมีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงกรรมการธนาคารนครหลวงไทย(SCIB)เพื่อผลักดันให้นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่ปรึกษารมว.คลังเข้าไปเป็นกรรมการอิสระ ขณะที่ธปท.ไม่เห็นด้วยเนื่องจากนายนิพัทธถูกธนาคารออมสินฟ้องดำเนินคดีในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับธนาคารในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน ซึ่งคดียังอยู่ในขั้นอุทธรณ์หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้แพ้คดี
นายกรณ์ ยังกล่าวหาว่า รมว.คลัง มีวาระซ่อนเร้นขัดขวางการขายหุ้น BT ที่ถือโดยกองทุนฟื้นฟูฯ โดยให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิ่มทุนของ BT ในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะพิจารณาว่าจะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 49% หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละประเด็นกัน และการขายหุ้นครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ BT มีความแข็งแกร่งขึ้นและการขายหุ้นก็ได้ราคาสูงในระดับที่ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯมีกำไร
จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ตอบข้ออภิปรายว่า กรณีการซื้อขายหุ้น SHIN และ กรณีของ SC เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 39 ซึ่งผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว และขณะนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ตกค้างอยู่ในความรับผิดชอบของก.ล.ต. พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่เคยก้าวก่ายการทำงานของ ก.ล.ต.
สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าแทรกแซงคณะกรรรมการสถาบันการเงินเพื่อหวังเล่นงานธปท.นั้น รมว.คลัง ระบุว่า ไม่เคยมีความพยายามที่จะปลดผู้ว่าการ ธปท.แม้จะมีข่าวลือมาหลายครั้ง นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรมว.คลังเมื่อครั้งที่มีการพิจารณาที่จะยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ก็มีข่าวว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ทั้งที่ได้มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนในกรรมการ SCIB และยังได้แจ้งกับนายนิพัทธให้งดการรับเชิญเข้าไปรับตำแหน่งต่าง ๆ
"ผมไม่คิดว่าจะมีความจำเป็นต้องตั้งบอร์ดเพื่อมาทำลายธปท.ผมยังขอร้องท่านที่ปรึกษาว่าใครมาเชิญก็อย่าไปรับตำแหน่ง เพราะไม่เช่นนั้นอย่ามาเป็นที่ปรึกษา"นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีของ BT นั้น เห็นว่าการตรวรสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ข้อครหาต่าง ๆ และยังการขายหุ้น BT ก็เป็นอำนาจตัดสินใจของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้เสร็จสิ้นขั้นตอนนั้นไปแล้ว แต่เงื่อนไขที่จะต้องให้รมว.คลังเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติเกิน 49% ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมีเวลาตามสัญญาที่กองทุนฟื้นฟูฯ ทำไว้กับผู้ซื้อ 5 เดือน จึงจะขอใช้เวลาช่วงหนึ่งในการพิจารณาก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ